สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ (สพม.ชัยภูมิ) เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการจัดการศึกษา ของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 37 โรงเรียน โดยภายใต้การบริหาร ของ ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งพงษ์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ (สพม.ชัยภูมิ) ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ดร.พิมพ์พิศา ชัชชวพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ เป็นผู้รับผิดชอบกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา ด้านการพัฒนางานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อเสริมสร้างความสุขและความปลอดภัยรอบด้าน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)

ดร.พิมพ์พิศา ชัชชวพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ เปิดเผยว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ ได้จัดทำนวัตกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับนโยบาย จุดเน้น และนโยบายเร่งด่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นผลงานที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในประเด็นเนื้อหาความปลอดภัยในสถานศึกษา การเสริมสร้างความสุขและความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยใช้นวัตกรรม T – CARE Model รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขต ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่มีความเป็นเลิศรอบด้าน เน้นการดำเนินงานที่มีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วนในการดำเนินการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัยและการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 “กิจกรรมค่ายพัฒนาผู้นำนักเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา” โครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวมเพิ่มโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2567 และโครงการพัฒนาการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการป้องกันเด็กออกจากระบบการศึกษา เป็นต้น

ดร.พิมพ์พิศา ชัชชวพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติ The International Forum & Best Education Awards 2024 จนได้รับรางวัล THE INTERNATIONAL FORUM & THE BEST EDUCATION INNOVATION AWARDS 2024 เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการยกย่องว่า ขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้มีความสุขและความปลอดภัยรอบด้าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตอบสนองเป้าหมายในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์กร สถานศึกษา ผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สืบไป