เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2-3 ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

ต่อมาเวลา 17.30 น. เข้าสู่ มาตรา 31 ศาล วงเงิน 8,725,721,200 บาท ซึ่ง สส.พรรคประชาชนหลายคนขึ้นมาอภิปรายงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคประชาชน อภิปรายถึงหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นปธ.) ของศาลรัฐธรรมนูญว่า ใช้งบ 8.8 ล้านบาท เป็นหลักสูตรคอนเน็คชั่น เมื่อดูตัวโครงการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เลย สิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องนิติธรรม แต่เป็นเรื่องปฏิบัติธรรมมากกว่า บางโครงการไปปฏิบัติธรรมไกลถึงอินเดีย เนปาล เป็นหลักสูตรเพื่อประชาธิปไตย หรือปฏิบัติธรรม  เมื่อดูรายชื่อศิษย์เก่าโครงการไม่ต่างจากงานสังสรรค์รวมญาติ  หลายรุ่นนามสกุลเดียวกัน พ่อเรียนเสร็จ แม่เรียนต่อ ลูกเรียนต่อ มีทั้งคนในกองทัพ กลุ่มนักการเมือง 2 ใน 3 ของรายชื่อเป็นคนสำคัญรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ด้วย ที่สำคัญประธานศาลก็จบหลักสูตรนี้ 3 ใน 9 ท่าน เป็นตุลาการมาจากหลักสูตรเดียวกัน หลักสูตรเหล่านี้ไม่ควรมีอยู่ในองค์กรที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ ความเป็นกลาง ขอตัดงบโครงการนี้ทั้งหมด เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกลางให้ศาลทำหน้าที่ตุลาการอย่างอิสระ

น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. อภิปรายว่า ศาลรัฐธรรมนูญของบประมาณโครงการสำรวจความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ วงเงิน 1 ล้านบาท ผ่านทางออนไลน์ เพื่อสำรวจความเห็นประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไปตรวจสอบเฟซบุ๊กศาลรัฐธรรมนูญกลับปิดคอมเมนต์ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นได้ แต่กลับมาของบ 1 ล้านบาท เพื่อสำรวจความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ เป็นการของบย้อนแย้งกับการกระทำหรือไม่ ถ้าเปิดช่องให้แสดงความคิดเห็นสามารถฟังความเห็นได้ไม่อั้น ฟรี ไม่รู้ปอดแหกหรือไม่ที่ไม่กล้าเปิดช่องคอมเมนต์ การสำรวจความเห็นประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้งบแม้แต่บาทเดียว แค่เปิดคอมเมนต์ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นก็ได้แล้ว หลังสมาชิกอภิปรายครบถ้วน ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าว

เวลา 18.40 น. เข้าสู่การอภิปราย มาตรา 32 หน่วยงานขององค์กรอิสระและอัยการ วงเงิน 10,327,613,900 บาท โดยนายกันตพงศ์ ประยูรศักดิ์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายตั้งข้อสังเกตงบประมาณของ กกต.และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีงบอบรมรวมกันสูงถึง 425 ล้านบาท เป็นงบอบรมของกกต. 256 ล้านบาท ใน 3 ด้านคือ ด้านการเลือกตั้ง ด้านสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย และด้านประชาธิปไตย ขณะที่อัยการสูงสุดมีงบอบรม 168 ล้านบาท ดูแล้วใช้งบอบรมมากเกินไป นำ 2 องค์กรมารวมกันเรียกว่าเป็นกิจการอบรมแห่งชาติ

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ขอตั้งข้อสังเกตการทำงานของ กกต.เรื่องการชี้มูลให้ใบเหลือง ใบแดง ไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้ง สว.ที่ผ่านมา ที่ประชาชนจับจ้องอยู่ ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ใครทำผิดต้องได้รับโทษ หลังจากอภิปรายครบถ้วนแล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบ มาตรา 32.