นายสุโรจน์ เเสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญที่เราต้องการพุ่งเป้า หลังจากที่กระผมได้รับตำแหน่งมานี้คือการโฟกัสที่การพัฒนาและผลักดัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในห่วงโซ่อุปทาน เป็นภารกิจและพันธกิจสำคัญอยากเห็นอนาคตที่ไทยจะกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นเทคโนโลยีเเห่งอนาคต นำมาสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย และพร้อมต่อยอดทักษะบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต การพัฒนา และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการเป็นพันธมิตรกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยยังมีพื้นที่การเติบโตไปได้ไกลอีกมาก หากได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดัน จากทุกๆภาคส่วน และทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมเป็นองค์กรในการประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศอย่างยั่งยืน และต่อยอดสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่เเข็งแรง”
นายสยามณัฐ พนัสสรณ์ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรมและการพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า “สมาคมฯสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด หรือแม้แต่การส่งเสริมเชื้อเพลิง biofuel ล้วนมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยิ่งไปกว่านั้นสมาคมฯ มีพันธกิจสำคัญต่อเนื่อง คือการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนและซัพพลายเชนในประเทศไทย หวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก ให้เป็น product champion สร้างรายได้ให้ประเทศเช่นเดียวกับรถปิคอัพ สมาคมฯ ได้เริ่มหารือกับบีโอไอ และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ในการส่งเสริมการผลิตดังกล่าว นอกจากนี้สมาคมฯยังร่วมมือกับบีโอไอในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในธุรกิจ EV หรือ Ecosystem อีกด้วย”
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน อุปนายกฯ ฝ่ายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เผยว่า “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เมื่อมีความต้องการจากผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการเติบโตของจำนวนผู้ใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น ภารกิจและภาระหน้าที่ของสมาคมฯ คือการผลักดันสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นในประเทศ และสนับสนุน พร้อมผลักดันนโยบายที่ยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนี้ ได้พัฒนา ต่อยอด และสร้างประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง”