สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ว่าตามรายงานของโอเพน-เอ็นอีเอ็ม ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตลาด ถ่านหินผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 49.1 ของพลังงานทั่วทั้งออสเตรเลีย เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ด้านสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 48.7 เนื่องจากพายุช่วยให้กำลังผลิตพลังงานลมเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลก และพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอย่างมาก ขณะที่การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งช่วยให้ความต้องการของไฟฟ้าลดลงร้อยะ 20 หลังจากที่ความเร็วลมเกิน 150 กม./ชม. ได้เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมขึ้นเกือบ 2 เท่าจากเดิม

นายทิม บัคลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเพื่อสภาพอากาศ กล่าวว่า ส่วนแบ่งของถ่านหินในตลาดพลังงาน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เรากำลังจะก้าวไปในทิศทางไหน และในอีกไม่กี่ปีข้าง หน้าถ่านหินอาจไม่ถูกนำมาใช้ผลิตพลังงานใด ๆ

อนึ่ง ระหว่างปี 2565-2566 เชื้อเพลิงฟอสซิลมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 91 ของการผลิตพลังงานในออสเตรเลีย ซึ่งรวมไปถึงการใช้ในอุตสาหกรรมและขนส่ง

ก่อนที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน 16 แห่งในประเทศจะปิดตัว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมของออสเตรเลียเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีการประกาศโครงการแบตเตอรี่ 6 แห่งทั่วออสเตรเลียตอนใต้ และที่รัฐวิกตอเรีย ซึ่งจะกักเก็บพลังงานได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2570

นายคริสโบเวน รมว.พลังงานออสเตรเลีย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะสภาพอากาศ และเศรษฐกิจกำลังเรียกร้อง พร้อมระบุว่า ออสเตรเลียต้องดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสมในตอนนี้ ไม่ใช่ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า

แม้จะมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงตามหลังจีน ซึ่งอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี (ราว 22 ล้านล้านบาท) ทำให้ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ พวกเขาสามารถติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน ได้เท่ากับที่ออสเตรเลียทำใน 1 ปี.

เครดิตภาพ : AFP