วันที่ 5 ก.ย. ที่ศาลาประชาคมจังหวัดอุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นางพรทิพย์ ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์, นางสาวพิสมนต์ มงคลเทพ พาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ และนางเยาวรัตน์ พันธุ์ทอง ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลลางสาดและลองกองหวาน ประจำปี 2567 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13–22 ก.ย.2567 ณ สนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นที่รู้จักในแง่มุมของ “เมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้” ส่งเสริมชื่อเสียงของลางสาดและลองกองของจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการขยายช่องทางการตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการผลิต และจำหน่ายผลไม้และผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัด ตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เกิดการบริโภคให้มากขึ้น 

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ขบวนแห่การแสดงศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้านและวิถีชาวสวน การประกวดลางสาด การประกวดลองกอง การประกวดจัดกระเช้าผลไม้ ประเภทสวยงาม ชมนิทรรศการนวัตกรรมทางการเกษตร กิจกรรมแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ นิทรรศการและการสาธิตการทอผ้าจังหวัดอุตรดิตถ์ เลือกซื้อลางสาด ลองกองหวาน ผลไม้นานาชนิด ผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีจากทั้ง 9 อำเภอ ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง สวนสนุกชุดใหญ่ทุกคืน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

ลางสาดและลองกองของ จ.อุตรดิตถ์ มีพื้นที่ปลูกอยู่ตามภูเขา ลองกองต้นดั้งเดิมเป็นต้นลางสาด ชาวสวนใช้วิธีนำกิ่งพันธุ์ลองกองมาเสียบยอดหรือต่อยอด ชาวสวนได้มีการบำรุงตั้งแต่เริ่มออกดอก ติดผล และแต่งช่อ ให้ได้ลางสาด-ลองกองที่มีช่อขนาดใหญ่ มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และรสชาติไม่หวานจัด อร่อยไม่แพ้ลองกองทางภาคใต้ เปลือกหนาสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน ปี 2566 พบว่ามีการปลูกลางสาดและลองกอง ในพื้นที่ 3 อำเภอหลัก คือ อ.ลับแล, อ.เมือง และ อ.ท่าปลา มีเกษตรกรผู้ปลูกลางสาด จำนวน 5,369 ราย พื้นที่เพาะปลูก 8,135 ไร่ ผลผลิตรวม 4,697.45 ตัน เกษตรกรผู้ปลูกลองกอง จำนวน 6,518 ราย พื้นที่เพาะปลูก 35,152 ไร่ ผลผลิตรวม 34,967.08 ตัน ซึ่งลางสาดและลองกอง ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดอุตรดิตถ์ มูลค่าประมาณ 793.25 ล้านบาท/ปี