เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ลานฝึกสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สพฐ.ตร.) พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะประธานกรรมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในกรณีภัยพิบัติ ของ ตร. มอบหมาย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (ผบช.สพฐ.) เปิดโครงการฝึกซ้อมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในเหตุภัยพิบัติ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ เจ้าหน้าที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ผู้เชี่ยวชาญพิมพ์มือ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ และอาสาสมัครมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ

ทั้งนี้ การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นการจำลองสถานการณ์ไฟไหม้ห้างสรรพสินค้า ทำให้มีอาคารถล่มมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ ซึ่งจำลองให้ลานอเนกประสงค์หน้าอาคาร 1 ตร. เป็นพื้นที่เกิดเหตุและมีการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่มีภัยพิบัติและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงมีการจำลองการลำเลียงศพไปยังลานฝึกสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจ ซึ่งจำลองเป็นพื้นที่ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า หากได้ติดตามข่าวจะทราบว่าเหตุภัยพิบัติที่ต้องใช้กระบวนการในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลสามารถเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น กรณีเหตุสึนามิในอดีต หรือกรณีเหตุโรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี และล่าสุดเป็นเหตุเครื่องบินเล็กตกในพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ละเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ที่สำคัญคือในที่เกิดเหตุจะพบว่าเป็นชิ้นส่วนร่างกายผู้เสียชีวิตที่ไม่สามารถระบุได้ในเบื้องต้นว่าเป็นศพผู้ใด จึงจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเข้ามาดำเนินการพิสูจน์ทราบ ซึ่งเห็นได้ว่าภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนรวมถึงผลกระทบเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ดังนั้น การฝึกซ้อมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการเสริมสร้างประสบการณ์ ทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ รวมถึงเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่และประสานการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลและเป็นไปตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2567 และระเบียบคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุในลักษณะใด เจ้าหน้าที่ในทุกฐานปฏิบัติการที่จัดขึ้นเฉพาะกิจจะต้องทำหน้าที่ด้วยความรวดเร็วภายใต้ความละเอียดรอบคอบ และมาตรฐานสากล ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานทั้งประเทศได้รับการอบรมมาในหลักสูตรเดียวกันเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง สากล

ส่วนเรื่องระยะเวลาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ กรณีพิสูจน์เอกลักษณ์ร่างผู้เสียชีวิตที่สมบูรณ์อวัยวะครบทุกส่วน 1 ร่างจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ชิ้นส่วนร่างกายที่เก็บไว้เพื่อพิสูจน์ดีเอ็นเอจะเลือกเก็บ กระดูกอ่อนซี่โครงเป็นอันดับแรก เนื่องจากเลือดอาจเสียเร็ว

ในตอนท้ายก่อนที่จะคืนร่างผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัว ทุกร่างจะมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย อาทิ พนักงานสอบสวนประจำที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ทันตแพทย์ แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อรับรองยืนยันให้ทุกร่าง