คำตอบอาจซ่อนอยู่ในผลการจัดอันดับ 10 ประเทศที่มี คะแนนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Score) สูงสุดในปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการที่ดี, ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม, การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม, การพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว, ความร่วมมือในระดับนานาชาติ, การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงาน การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report) และดัชนีเอสดีจี ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความต่อเนื่องและเป็นปัจจุบันที่สุด ในการขับเคลื่อนนโยบายของนานาประเทศทั่วโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งครอบคลุมสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวม 17 ข้อ ที่ยูเอ็นมุ่งหวังให้ทั่วโลกบรรลุร่วมกัน ภายในปี 2573

การจัดอันดับปีนี้ ได้มีการประเมินจาก 167 ประเทศ โดยมี 10 ประเทศ ที่มีคะแนนเอสดีจีสูงสุดในปี 2567 ได้แก่ อันดับ  1 ฟินแลนด์ คะแนนรวม 86.35, อันดับ  2 สวีเดน คะแนนรวม 85.70, อันดับ   3 เดนมาร์ก คะแนนรวม 85.00, อันดับ  4 เยอรมนี คะแนนรวม 83.45, อันดับ   5 ฝรั่งเศส คะแนนรวม 82.76, อันดับ  6 ออสเตรีย คะแนนรวม 82.55, อันดับ  7 นอร์เวย์ คะแนนรวม 82.23, อันดับ    8 โครเอเชีย คะแนนรวม 82.19, อันดับ  9 สหราชอาณาจักร คะแนนรวม 82.16 และ อันดับ 10 โปแลนด์ คะแนนรวม 81.69

ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 45 โดยมีคะแนนรวม 74.67 คะแนน ตกจากอันดับ 43 เมื่อปี 2566 ทว่ายังคงครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในอันดับ 18 และเกาหลีใต้ ในอันดับที่ 33 ในส่วนของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เวียดนาม อยู่อันดับ 54, สิงคโปร์ อันดับ 65, อินโดนีเซีย อันดับ 78, มาเลเซีย อันดับ 79, ฟิลิปปินส์ อันดับ 92, บรูไน อันดับ 96, กัมพูชา อันดับ 104, ลาว อันดับ 119 และเมียนมา อันดับ 120

สำหรับประเทศไทย รายงานระบุว่า ทำได้ดีมากในเป้าหมายข้อ 1 คือ การยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ และข้อ 4 คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทว่าด้านความท้าทายที่สุดของไทยเรา คือ ข้อ 2 การยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน, ข้อ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย, ข้อ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, ข้อ 15 ปกป้อง
ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และข้อ 16 ส่งเสริมสังคม
ที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า มีเพียง 16% ของเป้าหมายเอสจีดีเท่านั้น ที่โลกจะสามารถบรรลุร่วมกันได้ ภายในปี 2573 ด้านกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และ สวีเดน) มีความมุ่งมั่นมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายเอสดีจี อีกทั้งรายงานยังเน้นยํ้าว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายเอสดีจีนั้น ต้องอาศัยการลงทุนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับเอสดีจี เป็นเพียงภาพรวมในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ผลการจัดอันดับอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้น การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ เพื่อให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในอนาคต และการเปรียบเทียบคะแนนเอสดีจีของประเทศต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอื่น ๆ ได้ โดยสามารถศึกษาเรียนรู้จากนโยบายและกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของประเทศที่มีคะแนนสูง และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม
กับบริบทของประเทศตนเอง

ทั้งนี้ นอกจากการจัดอันดับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ แล้ว รายงานดังกล่าวยังให้มุมมองที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนเอสดีจี นั้นมาจากหลากหลายด้าน อาทิ ขนาดของประเทศ รายได้ต่อหัว ทรัพยากรธรรมชาติ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายเอสดีจี การบรรลุเป้าหมาย SDGs เป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนไปจนถึง บทบาทของภาคเอกชน ซึ่งมีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้.