สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ว่าอินเดียติดตั้งระบบเตือนภัย ที่ทะเลสาบธารน้ำแข็งบริเวณหิมาลัย 190 แห่ง เนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ทะเลสาบธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยอย่างน้อย 7,500 แห่ง มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินเดียพุ่งเป้าไปยังทะเลสาบ 190 แห่ง จากทั้งหมดมากกว่า 7,500 แห่ง บนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งการติดตั้งระบบอาจใช้เวลาดำเนินการถึง 3 ปี “เราได้ดำเนินการอย่างก้าวหน้าเพื่อลดความเสี่ยง” นายซาฟี อาห์ซาน ริซวี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอ็นดีเอ็มเอ กล่าว

“น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง” เกิดขึ้นเมื่อธารน้ำแข็งปล่อยน้ำที่สะสมมาในอดีตออกมาอย่างกระทันหัน ซึ่งทะเลสาบเหล่านี้เกิดขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อันเป็นผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

การสำรวจแต่ละครั้งได้ดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า รอบทะเลสาบที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 6 แห่ง ในรัฐสิกขิม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเมื่อเดือน ต.ค. 2566 เคยมีผู้เสียจากอุทกภัยอย่างน้อย 77 ราย “เราได้ติดตั้งระบบเตือนภัยให้กับทะเลสาบอย่างน้อย 20 แห่ง และจะทำให้สำเร็จอีก 40 แห่งภายในฤดูร้อนนี้” ริซวีกล่าว โดยโครงการนี้ยังรวมไปถึงการลดระดับน้ำสะสม และน้ำแข็งที่ละลายในทะเลสาบด้วย

โครงการดังกล่าวรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กองทัพ หน่วยงานของรัฐ องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย นักธรณีวิทยา นักอุทกวิทยา วิศวกรคอมพิวเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ ขณะที่กองทัพอากาศคาดว่าจะเข้าร่วมภารกิจในภายหลัง

ทั้งนี้ ทหารจะสนับสนุนภารกิจจัดส่งอุปกรณ์เข้าไปยังพื้นที่ห่างไกล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยในอินเดียตั้งแต่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงแคว้นลาดักห์ ทางตอนเหนือ และรัฐอรุณาจัลประเทศ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายหายไป และมีการคาดการณ์ว่าธารน้ำแข็งครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 215,000 ทั่วโลกจะละลายภายในสิ้นศตวรรษนี้ แม้มนุษย์จะสามารถคงอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมได้ก็ตาม

การสำรวจโดยดาวเทียม เมื่อปี 2563 แสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำของทะเลสาบธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ภายในระยะเวลาเพียง 30 ปี และการศึกษาในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ พบว่ามีผู้คน 15 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง และหลายคนอาศัยอยู่ในระยะ 1 กิโลเมตรจากจุดที่อาจเกิดน้ำท่วมจากรอยแยก

“เทือกเขาสูงในเอเชีย” ทั้ง 12 ประเทศ รวมทั้งในอินเดีย ปากีสถาน จีน และเนปาล มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ใกล้กับทะเลสาบธารน้ำแข็ง มากกว่าส่วนอื่นของโลก และทำให้ระยะเวลาเตือนภัยสั้นลง

เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เนปาลเผชิญกับการระเบิดของทะเลสาบน้ำแข็งในภูมิภาคเอเวอเรสต์ ซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ จากน้ำเย็นยะเยือกที่ไหลผ่านหมู่บ้านทาเม และพัดทำลายอาคารบ้านเรือน อย่างไรก็ดี ชาวบ้านได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า จึงไม่มีผู้เสียชีวิต

ด้านศูนย์นานาชาติสำหรับการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ (ไอซีไอเอ็มโอดี) อธิบายว่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผลกระทบร้ายแรงของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และกำลังเอาคืนมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายธรรมชาติ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES