หนึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยครั้งสำคัญที่สร้างความฮือฮาเหลือเกิน หนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่วงประชุมร่วมกันใน“พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” โดยสส.และคณะกรรมการบริหารพรรค ลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้ตอบรับไมตรีของ “พรรคเพื่อไทย” ไปร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 31

จริงอยู่ที่ในอดีต ค่ายสีฟ้าเคยเข้ารวมกลุ่มกับพรรคนั้นพรรคนี้จัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งมีพรรคที่เคยแข่งกันในสนามการเมือง รวมถึงกรณีเมื่อปี 2562 ที่เกิดการเปลี่ยนแนว ยอมจับมือร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ถูกมองว่าเป็นผู้สืบทอดอำนาจ “ท็อปบู๊ต”  ผลักดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

โดยครั้งนั้นส่งผลสั่นสะเทือนฐานเสียงและแรงศรัทธาของบรรดาผู้สนับสนุนของปชป.พอสมควร แต่ยังไม่สะเทือนใจหนักหนาเท่ากับกรณีล่าสุดที่ข้ามขั้วครั้งใหญ่ ไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แค้น คู่แข่งกันมานานแสนนาน ตั้งแต่ยังเป็นยุคของ “พรรคไทยรักไทย” ที่ก่อตั้งโดย “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 จนถึงในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566

แต่หลังจากนั้นเริ่มมีกระแสข่าวหนาหูขี้นถึงการแปรผันของปชป.ในยุคของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคฯ คนปัจจุบัน ที่ค่อยๆฉายแววการหาจังหวะร่วมจับมือกัน จนเกิดขึ้นจริงในรัฐนาวา “ครม.อิ๊งค์ 1” โดย “เฉลิมชัย”ได้รับตำแหน่งรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” เลขาธิการพรรค ได้นั่งเก้าอี้รมช.สาธารณสุข

แม้ต่างฝ่ายต่างระบุว่าเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย โดยมุ่งหวังสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและจัดการกับปัญหาหลักที่ประเทศเผชิญอยู่ ขณะเดียวกันมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้ของปชป.

แต่เสียงที่ดังอื้ออึงส่วนใหญ่กลับเป็นเสียงคัดค้านจากประชาชน สมาชิก และแฟนคลับค่ายสะตอเอง แถมยังโดนวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงการแปรเปลี่ยนอุดมการณ์ของพรรคฯ สิ่งเหล่านี้จึงสร้างความสั่นคลอนต่อฐานเสียงของปชป. อีกทั้งกระทบกับภารกิจของทีมผู้บริหารพรรคในการฟื้นฟูแรงศรัทธาและคะแนนความนิยมให้ยิ่งยากมากขึ้น

เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัย “ซูเปอร์โพล” ที่พบว่าหลังจากปชป.ประกาศร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประชาชนที่เคยเลือกปชป. ร้อยละ 60.1 ระบุว่าคะแนนนิยมต่อปชป.ลดลง แต่ร้อยละ 39.9 ระบุว่าคะแนนนิยมจะเพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ทีมผู้บริหารพรรคไม่ควรมองข้าม

ที่สำคัญ ยังไม่ทันที่ “เฉลิมชัย” จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ก็ถูกตั้งคำถามอีกครั้งต่อข่าวคราวการครอบครองที่ดิน ภบท.5 จำนวน 120 ไร่ ในจ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของเจ้าตัวในฐานะรมว.ทรัพยากรฯ และภาพพจน์ของพรรคมากขึ้นด้วย

นับจากนี้เป็นสถานการณ์ที่ผู้บริหารและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน และต้องฟันฝ่าแก้โจทย์ร้อนให้ได้ เพื่อฟื้นฟูกู้ศรัทธาและคะแนนนิยม มิฉะนั้นอาจจมกลืนหายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป