ที่ โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี นางเปรมวดี ขวัญเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “รู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภค..เพื่อนผู้บริโภค” สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค คณะผู้บริหารจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่เข้าร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อให้องค์กรผู้บริโภครวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้รู้จักการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค และเพื่อพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ โดยกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายหัวข้อ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ผู้แทนของผู้บริโภคทุกด้านเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน โดย ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ความเป็นมาและความสำคัญของ พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กับการคุ้มครองผู้บริโภค โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเวทีเสวนาในหัวข้อ เสียงสะท้อนถึงอนาคตกับการคุ้มครองผู้บริโภคสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สถานีตำรวจภูธรตันหยง จังหวัดนราธิวาส สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดำเนินรายการโดย หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค และมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่เข้าร่วมงานในวันนี้ประมาณ 150 คน
สำหรับสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 46 ได้กำหนดรับรองในเรื่อง “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง” และพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาผู้บริโภคมีอำนาจคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในมาตรา 14 (4) กำหนดให้สภาผู้บริโภคสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกและองค์กรผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ผู้บริโภค รวมทั้งสนับสนุนการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคระดับจังหวัด ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิก จำนวน 328 องค์กร ใน 48 จังหวัด ซึ่งองค์กรสมาชิกมีภารกิจสำคัญ คือ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค การเฝ้าระวังปัญหาหรือเตือนภัยผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน ซึ่งในจังหวัดปัตตานีจะมีหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคให้บริการรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ตลอดจนผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้หลายช่องทางมายังสภาผู้บริโภค เช่น โทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 1502 หรือการร้องเรียนผ่านไลน์ เฟซบุ๊กเพจ และเว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค จากข้อมูลระบบรับเรื่องร้องเรียนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566-28 สิงหาคม 2567 สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 126 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกันทั้งหมด จำนวน 4,712,509.54 บาท พบว่า 5 อันดับแรกเป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพ มากที่สุด จำนวน 41 เรื่อง รองลงมาคือ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 35 เรื่อง ด้านการเงินและการธนาคาร 23 เรื่อง ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 16 เรื่อง และด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 เรื่อง มูลค่าจำนวนเงินหลังยุติเรื่องร้องเรียน จำนวน 400,440 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของมูลค่าความเสียหายรวม