จากกรณีข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังเขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาทิ แม่น้ำน้อยและคลองสาขาต่าง ๆ รับปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ

โดยบ้านเรือนประชาชนกว่า 5 อำเภอ เสนา, ผักไห่, บางบาล, บางไทร และพระนครศรีอยุธยา ได้รับความเดือดร้อน 6,031 ครัวเรือนตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ล่าสุดแฟนเพจเฟซบุ๊ก อยุธยา-Ayutthaya Station ได้ออกมาโพสต์ความในใจของชาวอยุธยา ประเด็นน้ำท่วม ระบุว่า ปกติทิศทางการไหลของน้ำ คือไหลจากที่สูงลงที่ต่ำถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นน้ำที่ไหลมาจากเหนือมาผ่านมาหลายจังหวัดจนมาถึงอยุธยา ต้องลงต่อไป ปทุมฯ-กทม.-อ่าวไทย แต่มันไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เพราะมวลน้ำที่ไหลมาจากเหนือถูกกองอยู่ที่อยุธยา และกองอยู่อย่างต่ำ 2-4 เดือน

อยุธยาเราในบางอำเภอถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ แอดจะเขียนอธิบายเพื่อให้พวกเรา เข้าใจตรงกัน อยุธยามีทั้งหมด 16 อำเภอ
และเป็นพื้นที่รับน้ำทั้งหมด 12 อำเภอ คือ
1. อ.ผักไห่
2. อ.เสนา
3. อ.บางบาล
4. อ.บางซ้าย
5. อ.บางปะหัน
6. อ.พระนครศรีอยุธยา (ไม่รวมในเมือง)
7. อ.บางไทร
8. อ.ลาดบัวหลวง
9. อ.นครหลวง
10. อ.มหาราช
11. อ.ท่าเรือ
12. อ.บ้านแพรก

จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีทุ่งรับน้ำ
ถ้าเมื่อก่อนจะเรียก 7 ทุ่งค่ะ แต่ปัจจุบันเขารวม ทุ่งบางบาล-บ้านแพนเป็น 1 ทุ่ง จึงเหลือ 6 ทุ่ง
1. ทุ่งป่าโมก
2. ทุ่งบางบาล-บ้านแพน
3. ทุ่งผักไห่
4. ทุ่งบางกุ้ง
5. ทุ่งเจ้าเจ็ด
6. ทุ่งบางกุ่ม

เอาจากความคิดส่วนตัวของแอดนะคะ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครพอใจหรือเต็มใจที่จะถูกเป็นพื้นที่รับน้ำหรอก แต่ด้วยภาวะจำยอมจึงต้องก้มหน้ารับต่อไป ซึ่งประเด็นสำคัญที่คนในพื้นที่รับน้ำกำลังต่อสู้ตอนนี้คือ ให้พวกเขารับน้ำแล้วอย่างไรต่อไป ไม่ใช่ว่าน้ำท่วมไม่ได้นะคะ แต่เมื่อถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นผู้เสียสละโดยจำยอมแล้ว จะยังไงต่อไปคะ

ในหนึ่งปีจะต้องถูกท่วมกี่เดือน จะถูกน้ำท่วมสูงประมาณไหน หลังจากถูกน้ำท่วมแล้วจะเยียวยาอย่างไร ที่ผ่านมานอกจากจะถูกปล่อยให้น้ำท่วมแล้ว การเยียวยายังน้อยมาก ๆ เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยี นวัตกรรมทุกอย่างทันสมัยมาก ๆ การที่จะมาพูดว่าอยุธยาน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มันไม่ควรเลยจริง ๆ ถ้าท่วมมาตั้งหลาย 100 ปี จนมาถึงปัจจุบันยังสมควรจะท่วมอยู่อีกเหรอคะ

บริบทของคำว่าบริหารจัดการน้ำอยู่ตรงไหนคะ ถ้าอยู่ตรงที่การปกป้องพื้นที่สำคัญพื้นที่เศรษฐกิจไม่แปลกค่ะ แต่เมื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจพื้นที่สำคัญแล้วอย่าลืมปกป้องประชาชนด้วยนะคะ ถ้าการบริหารจัดการน้ำมีหน้าที่ปกป้องพื้นที่สำคัญปกป้องเศรษฐกิจเท่านั้น แอดก็อยากจะบอกว่าประชาชนอย่างพวกเรา ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำเลยค่ะ

  • ยุค 2024 ประชาชน ไม่ควรชินกับความลำบากเพียงลำพัง
  • ยุค 2024 ประชาชน ไม่ควรถูกทอดทิ้งให้ช่วยเหลือกันเอง
  • ยุค 2024 ประชาชน ควรมีสิทธิเรียกร้องในสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @อยุธยา-Ayutthaya Station