เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่วัดพัฒนาธรรมาราม หรือวัดบ้านด่านช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เวลา 11.30 น. ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เหรียญวัตถุมงคล รุ่นเจริญดี หลวงปู่เฮง ปภาโส ที่จัดสร้างโดยทีมงาน ปิยะ เพิ่มสมบูรณ์ & สรรค์  นครสวรรค์  มีพระราชสุดาลังการ (หลวงพ่อฉัตร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11  วัดพรหมสุรินทร์ ,หลวงปู่เฮง ปภาโส วัดบ้านด่านช่องจอม ,พระครูโพธิสุวรรณรัตน์ (หลวงตาแก่น คมภีรมุนี) วัดสุวรรณรัตน์โพธิยาราม ตำบลลำดวน อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ นั่งปรกอธิษฐานจิต โดยมีศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและกัมพูชา ร่วมงานด้วยความศรัทธาเป็นจำนวนมาก

 ทั้งนี้ ทีมงาน ปิยะ เพิ่มสมบูรณ์ & สรรค์  นครสวรรค์  ยังได้บริจาคเงินจำนวน 6 แสนบาท สมทบทุนสร้างมณฑลรูปเหมือน หลวงปู่เฮง ปภาโส องค์ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย หลังเสร็จพิธี มีการจุดประทัดจำนวน 1,000 นัด และไม่พลาดสำหรับนักเสี่ยงโชค ต่างกรูเข้าไปถ่ายภาพเลขหางประทัดไว้ไปลุ้นโชครางวัล ซึ่งเลขที่ได้คือ 425 และ 68

 และยังได้แจกเหรียญพระเครื่องจำนวนกว่า 2,000 องค์ ให้กับประชาชนและพุทธศาสนิกชน ที่ต่างแห่มาเข้าแถวรอรับกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตลอดทั้งวันบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน กระทั่งเสร็จสิ้นพิธี ก็ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี ดลไม่ให้มีอุปสรรค และแสดงให้เห้นถึงความศักดิ์สิทธิ์ในทุกๆครั้งที่มีพิธีปลุกเสก อย่างคราวล่าสุด เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลต เป็นที่น่าอัศจรรย์ในระหว่างประกอบพิธี ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ทั้งนี้ รูปหล่อองค์เหมือนหลวงปู่เฮง ปภาโส  ใหญ่ที่สุดในโลกดังกล่าว  มีขนาดหน้าตักกว้าง  7 เมตร สูง 9 เมตร ตั้งอยู่บนฐานที่มีความสูงประมาณ 10 เมตร ด้านหน้าจะมีรูปปั้นองค์พญานาคขนาบข้างซ้าย-ขวา ขนาดใหญ่ที่มีวิจิตรสวยงาม มีความยาวมากกว่า 120 เมตร ตั้งเด่นตระหง่านให้สายมูเข้ามากราบไหว้ และถือว่าเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่แห่งเดียวของชายแดนช่องจอมแห่งนี้ ที่น่าสนใจ เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังอยู่ติดกันกับตลาดชายแดนช่องจอม ที่มีสินค้าของพี่น้องชาวไทยและกัมพูชามาวางขายเป็นจำนวนมากอีกด้วย

 สำหรับ หลวงปู่เฮง ปภาโส เจ้าอาวาสวัดพัฒนาธรรมาราม หรือ วัดบ้านด่านช่องจอม สิริอายุ 97 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภของแดนดินถิ่นอีสานใต้ เกิดเมื่อ เดือนสิงหาคม 2470 ปีเถาะ พ่อแม่เป็นชาวกัมพูชา แต่ได้อพยพมาอยู่ประเทศไทยในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง โดยย้ายมาอยู่หมู่บ้านปราสาท ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ประกอบอาชีพทำนาทำสวน มีพี่น้องด้วยกัน 13 คน เป็นบุตรคนที่ 7

 ในวัยเด็กอายุประมาณ 13-14 ปี พระอาจารย์เฉิด ธัมมกโร ลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่เฮง เดินทางธุดงค์มาจากประเทศกัมพูชา เข้ามาเยี่ยมญาติพี่น้องที่ประเทศไทย บอกจะเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะไปได้ขอกับแม่ของท่าน โดยขอให้น้องไปด้วย และจะได้สอนให้ได้หัดเรียนเขียนอ่านหนังสือทำให้ได้ศึกษาอักษรขอมศาสตร์วิชาแขนงต่างๆ ตั้งแต่บัดนั้น ศึกษากับพระอาจารย์เฉิด พระพี่ชายและออกธุดงค์ไปด้วยเสมอ จนอายุ 15 ปี ได้กลับมาบ้านและบวชเรียนเป็นเณร เรียนภาษาไทย ขอม และภาษาบาลี เพิ่มเติม สอบได้นักธรรมโท ครั้นอายุ 21 ปี ไปเป็นทหารที่กรมทหารม้า จ.ลพบุรี เลี้ยงม้าขี่ม้าอยู่ 3 ปี หลังปลดประจำการก็ท่องเที่ยวไปเรื่อย ช่วงชีวิตหนึ่งของท่านท่องเที่ยวไปทั่ว และไปอยู่ประเทศกัมพูชา

จนกระทั่ง พ.ศ.2495 ได้ย้ายไปอยู่ จ.จันทบุรี มีโอกาสพบกับหลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จึงตัดสินใจบวช หลวงพ่อคงได้ถ่ายทอดวิทยาคม อักขระเลขยันต์ ภาษาขอม เขียนผงลบผง สักยันต์ และคาถาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะคาถาคงกระพันชาตรี ย่นระยะทาง มุ่งศึกษาจนมีความชำนาญ กระทั่งหลวงพ่อคงไว้ใจให้เขียนยันต์ อักขระแทน และเข้าร่วมปลุกเสกด้วย พ.ศ.2532 หลวงพ่อคงมรณภาพ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดวังสรรพรสแทน แต่อยู่ได้เพียง 6 พรรษา ก็ขอลาออกและธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลับมาบ้านเกิดอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านด่านช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ จนถึงปัจจุบัน

 หลวงปู่เฮง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวอีสานใต้และชาวกัมพูชาแถบชายแดน ให้ความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยเป็นพระที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมยามได้รับกิจนิมนต์ไปงานบุญต่างๆ ไม่เคยปฏิเสธ แม้ว่าอายุจะย่างเข้าสู่วัยชราและมีปัญหาด้านสุขภาพตามวัย อีกทั้งเมื่อท่านรับกิจนิมนต์แล้วท่านจะต้องเดินทางไปถึงสถานที่งานก่อนเป็นประจำ ส่วนกิจนิมนต์ในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลตามวัดต่างๆ ท่านต้องเดินทางเข้าร่วมพิธีเสมอ แม้จะไกลหรือจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็มีความสุขที่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น ศิษย์ผู้คอยดูแลปรนนิบัติก็ไม่สามารถทัดทานได้ ด้านวัตถุมงคลที่อธิษฐานจิตปลุกเสกนั้น ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์เล่าขาน ทำให้บรรดานักสะสมนิยมพระเครื่องวัตถุมงคลต่างเสาะแสวงหามาบูชาครอบครองติดตัวเกียรติคุณบารมี รวมทั้งพุทธาคมและพลังจิตของท่าน ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดสุรินทร์และแดนดินถิ่นใต้อีกด้วย.