เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และโฆษก สปสช.พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมกันชี้แจงกรณีโรงพยาบาลรัฐ 403 แห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่ได้รับงบบัตรทองผู้ป่วยในจาก สปสช. ว่า ในส่วนของเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว มีเงินค่าบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ผู้ป่วยในทั่วไป ค่าบริการกรณีเฉพาะ ค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์แผนไทย ส่วนของเงินผู้ป่วยใน สปสช.มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนและมีการตัดเงินในส่วนเงินเดือนหรือค่าแรงหน่วยบริการของรัฐด้วย เพราะสำนักงบประมาณได้จ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการโดยตรงอยู่แล้ว

ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณปี 2567 มีพ.ร.บ.งบฯ ผ่านช้ามาก การจ่ายเงินของ สปสช.จึงใช้ตัวเลขงบฯในปีก่อนหน้าไปพลางก่อน ช่วงต้นปีหักเงินเดือนออกจำนวนไม่มากนัก และเมื่อมีการอนุมัติใช้งบฯปี 2567 แล้ว ก็ได้หักเงินเดือนออกมากขึ้น เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ทำให้ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม แต่เมื่อคำนวณเงินที่ได้รับทั้งก็ได้ครบทั้งหมด ซึ่งคาดว่าปีหน้าคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพราะงบฯปี 68 ก็ผ่านการอนุมัติจากสภาเรียบร้อยแล้ว การหักเงินเดือนก็จะเกลี่ยให้เท่าๆกันทุกเดือน โดยเริ่มต้นที่ 8,350 บาทก่อน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ส่วนเงินที่จัดสรรให้ในเดือน ก.ย.นี้นั้น ยืนยันว่า มีจ่ายแน่นอน โดยที่ประชุมบอร์สปสช.เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ให้ สปสช.จ่ายในอัตรา 7,000 บาท ต่อ adjRW ในอนาคตทางออกของเรื่องนี้ก็ต้องมีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งนี้ สปสช.ก็มีตั้งของบฯเพิ่มทุกปี ส่วนจะได้รับเพิ่มมากน้อยเท่าไรก็ขึ้นกับสำนักงบฯ นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลเองก็มีรายรับจากส่วนอื่นได้แก่ เงินบำรุงโรงพยาบาล รวมทั้งเงินสนับสนุนค่าบริการ OP Anywhere หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ อีก 5,910 ล้านบาทอีกด้วย 

นพ.ดุสิต กล่าวว่า สธ.ได้กำหนดค่าถ่วงน้ำหนักบริการผู้ป่วยใน หรือค่าK เป็นแต้มต่อเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพื่อจัดสรรงบเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ส่วนโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลศูนย์จะไม่มี ในลักษณะพี่ช่วยน้อง ดังนั้นเงินค่าผู้ป่วยใน ที่กำหนดไว้ 7,000 บาทต่อหัว บางโรงพยาบาลก็อาจจะได้รับมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ซึ่งบางโรงแม้ว่าจะได้ส่วนเพิ่มจากค่า K รวมทั้งเงินอุดหนุนสำหรับพื้นที่กันดาร ห่างไกล เสี่ยงภัย ชายแดน ก็ยังไม่เพียงพอ สธ.ก็ต้องหาทางช่วยเหลือเพิ่มต่อไป.