เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้สำรวจข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศกลุ่มอาเซียน เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-มิ.ย.) ของไทย เทียบกับทั้งหมด 9 ชาติในอาเซียนโดยเงินเฟ้อ ถือเป็นดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ ที่สะท้อนถึงภาวะกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ รวมถึงราคาสินค้า ค่าครองชีพของประชาชน โดยพบว่าครึ่งปีแรก ไทยมีเงินเฟ้อต่ำเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ซึ่งมีอันดับ ดังนี้
- บรูไน เงินเฟ้อติดลบ 0.26%
- ไทย มีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0 หรือไม่เปลี่ยนแปลง
- กัมพูชา เงินเฟ้อเพิ่ม 0.26%
- มาเลเซีย เงินเฟ้อเพิ่ม 1.81%
- อินโดนีเซีย เงินเฟ้อเพิ่ม 2.79%
- สิงคโปร์ เงินเฟ้อเพิ่ม 2.87%
- ฟิลิปปินส์ เงินเฟ้อเพิ่ม 3.55%
- เวียดนาม เงินเฟ้อเพิ่ม 4.08%
- ลาว เงินเฟ้อเพิ่ม 25.29%
สาเหตุที่บรูไนมีเงินเฟ้อต่ำสุด มาจากการลดลงของราคาสินค้าและบริการด้านที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ และการขนส่ง เนื่องจากบรูไนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลัก อีกทั้งรัฐบาลบรูไนมีนโยบายควบคุมราคาสินค้า
ขณะที่ชาติที่มีเงินเฟ้อสูงสุดอย่างลาว มาจากสาเหตุการพึ่งพานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับหนี้สาธารณะอยู่ระดับสูง และค่าเงินกีบอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม
สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อไทย 6 เดือนแรกของปี 67 เท่ากับศูนย์ หรือไม่เปลี่ยนแปลงนั้น มีสาเหตุจากกำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อีกทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลต่ำกว่าปีก่อน จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 67 อยู่ระหว่าง 0-1%