“ไมโครเวฟ” เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีประโยชน์มาก ใช้ในการอุ่นอาหาร และละลายอาหารแช่แข็ง รวมทั้งยังสามารถทำอาหารแบบง่าย ๆ ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้ไมโครเวฟไม่ถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้
หน่วยงานบริหารอิสระ สถาบันเทคโนโลยีและการประเมินผลแห่งชาติญี่ปุ่น หรือ NITE ได้ทำคลิปวิดีโอการทดลองนำ “สิ่งของต้องห้าม” ใส่เข้าไปในไมโครเวฟ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า… ถ้าใส่เข้าไปแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น? ก่อนโพสต์ให้ทุกคนได้ดูกันทาง X : @NITE_JP พร้อมเปิดเผย “ข้อควรระวังในการใช้ไมโครเวฟ”
ในการเวฟ “ซาลาเปา” และ “นม” เราไม่ควรเวฟจนร้อนเกินไป
หากเราเวฟ “ซาลาเปาไส้เนื้อสัตว์” จนร้อนเกินไป มันอาจลุกไหม้ภายในไมโครเวฟ จนทำให้เกิดไฟไหม้ได้ โดย NITE ได้ทำการทดสอบและพบว่า ซาลาเปาลุกไหม้จนดำเกรียมเป็นถ่าน (ชมการทดลองได้ท้ายคลิปด้านล่าง)
“นม” ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเวฟจนร้อนมากเกินไป มันไม่ได้มีปัญหาทันที หลังนำออกมาจากไมโครเวฟ แต่เมื่อมีการเติมอะไรขึ้นไปในนม เช่น กาแฟผง จะทำให้เกิดการระเบิด และนมที่ร้อนจัดอาจกระเด็นมาถูกตัวของเรา ทำให้เป็นแผลพุพองจากการถูกน้ำร้อนลวกได้ (ชมการทดลองได้ท้ายคลิปด้านล่าง)
ในส่วนของคนที่ใช้ไมโครเวฟ แล้วไม่ค่อยยอมทำความสะอาด คุณอาจไม่รู้ว่ามันเป็นอันตรายมากกว่าที่คุณคิด เพราะสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ภายในไมโครเวฟ หากปล่อยทิ้งไว้ และเรายังคงใช้งานต่อไป สิ่งสกปรกเหล่านั้นอาจลุกไหม้ติดไฟจนทำให้เกิดไฟไหม้ได้ เพราะฉะนั้น อย่าลืมทำความสะอาดไมโครเวฟทุกครั้งที่ใช้ (ชมการทดลองได้ท้ายคลิปด้านล่าง)
ไปดูกัน… ถ้าใส่ของต้องห้ามในไมโครเวฟจะมีสภาพเช่นไร?
https://x.com/NITE_JP/status/1749914914066477165
สิ่งที่เป็นอันตรายเมื่อถูกความร้อนในไมโครเวฟ
อาหารที่มีเปลือกหรือเยื่อหุ้ม
อย่าอุ่นอาหารที่มีเปลือกหรือเยื่อหุ้มในไมโครเวฟ เพราะจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เช่น ไข่ดิบ ไข่ต้ม หรือเกาลัดที่ยังไม่ได้แกะ เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดได้
ภาชนะที่มีส่วนผสมของโลหะ และอะลูมิเนียมฟอยล์
ถ้า อะลูมิเนียมฟอยล์ หรือ ภาชนะที่มีโลหะ ถูกความร้อนจากไมโครเวฟ จะเกิดประกายไฟและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
ภาชนะพลาสติก หรือแก้วที่ไม่ทนความร้อน
การใส่ภาชนะพลาสติก หรือแก้วที่ไม่ทนความร้อนในไมโครเวฟ จะทำให้ภาชนะเสียหาย หรือละลายจนผิดรูป
กระดาษ
ไม่ควรใส่กระดาษเข้าไปในไมโครเวฟ เพราะมันสามารถติดไฟได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก
ที่มาและภาพ : grape japan, X : @NITE_JP