เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการลงมติเห็นชอบกับข้อบังคับการประชุมและกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำวุฒิสภา 21 คณะ จากเดิมมี 26 คณะ ซึ่งได้มีข้อเสนอในการที่จะยกร่างข้อบังคับการประชุมว่าด้วย กมธ. ที่มีผู้ยกร่างทั้งสิ้น 5 ร่าง ซึ่ง 4 ร่างเป็นของสมาชิกเสียงข้างน้อย และเราตั้งใจที่จะเสนอร่างนี้เข้าไป และข้อตกลงในการที่จะนำร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยนำร่างของเสียงข้างมากเป็นร่างหลัก แต่ปรากฏว่าตีตกทั้ง 4 ร่างของเสียงข้างน้อย จึงเหลือร่างหลักของเสียงข้างมากเพียงร่างเดียว ซึ่งมีการเปิดให้แปรญัตติ และใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน แต่เมื่อวานนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้แต่คำเดียว เราจึงมีความรู้สึกว่า เสียงของวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยไม่มีความสำคัญ และไม่มีการเคารพ ตกลงแล้วกันมาทำงานในสภา เราไม่สามารถผลักดันอะไรได้เลย แม้จะมีข้อตกลงเพื่อลงมติร่วมกัน แต่ถึงเวลาก็ใช้เสียง

เมื่อถามว่า สว. เสียงข้างน้อยจะทำงานยากหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ยากลำบากมาตั้งแต่ต้น ที่เรามีจำนวนเกินกว่าที่เราจะไปชนะในมติใดๆ ได้ แต่เรายังคิดว่า สว. เป็นผู้ที่มาจากอาชีพที่หลากหลายและการเข้ามาร่วมเข้ามาทำงาน ต้องมีเสียงข้างมากหรือข้างน้อย และควรให้กลุ่มอาชีพได้แสดงความรู้ความสามารถผลักดันวาระ แต่สุดท้ายเราไม่ได้เห็นความหลากหลายตรงนี้ ถือเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันวาระต่อไป ไม่ต้องพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ

“เราคงทำได้แค่ส่งเสียงให้สื่อมวลชนสื่อสารไปยังประชาชนว่า เราพยายามเต็มที่แล้ว“ น.ส.นันทนา กล่าว

เมื่อถามว่า หากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เรื่องที่ สว. เสียงข้างน้อยอยากผลักดัน จะไม่สำเร็จเลยใช่หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น เราได้เสนอญัตติน้ำท่วม ซึ่งคนทั่วไปเขาเห็นความเดือดร้อน เป็นญัตติของเสียงข้างน้อยก็ไม่ได้รับการบรรจุ กว่าจะบรรจุ น้ำก็คงลดไปแล้ว

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า เราคงได้ยินมาแล้วว่าจะมีประธาน กมธ. จากสีน้ำเงิน 21 เก้าอี้ ต้องถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ เสียงข้างมากไม่ได้แปลว่าจะต้องกินรวบทั้งหมด หรือจะได้เป็นประธาน กมธ. ทุกคณะ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง ประธาน กมธ. ควรเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถตรงกับภาระหน้าที่ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อรับผลประโยชน์ มีห้องทำงาน หรือขอเครื่องราชฯ ได้ เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย.