เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2 แบบรายมาตรา

โดยนายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญฯ ลุกขึ้นอภิปราย มาตรา 4 ขอลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ตั้งไว้ 3,752,700 ล้านบาท เหลือ 3,565,000,000 ล้านบาท โดยระบุว่า งบ 2568 มีที่มาจาก 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ รายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 287,000 ล้านบาท และมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ 865,000 ล้านบาท

“พูดแบบชาวบ้านก็คือ เงินกูไม่พอ เลยต้องใช้เงินกู้มาเติม ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลจัดงบประมาณขาดดุล แล้วก็กู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ภาระหนี้สินในรูปของหนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทำงบประมาณแบบขาดดุลเรื้อรังดังกล่าว สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่ห่วงใยฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคตเป็นอันมาก หนึ่งในนั้นคือผม” นายวีระ กล่าว

นายวีระ กล่าวต่อว่า การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังดังกล่าว ทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สิ้นเดือน มิ.ย. ปี 2567 รัฐบาลมียอดหนี้สาธารณะคงค้างรวมกันทั้งสิ้นมากถึง 11.54 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมด้วยการกู้ขาดดุลงบประมาณ 2568 อีก 865,000 ล้านบาท เท่ากับว่ายอดคงค้างจะทะลุ 12 ล้านล้านบาท และอาจจะถูกสูงถึง 13 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปี แต่ก็ยังไม่สำคัญว่าในอนาคตหากการจัดทำงบประมาณขาดดุลเรื้อรังยังดำเนินไปพร้อมกับการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลทุกปีไปเรื่อยๆ แบบนี้ เราจะต้องมีปัญหาทางด้านการเงินการคลังภาครัฐหนักหนาสาหัสอย่างแน่นอน

นายวีระ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราเห็นต่อเนื่องคือรายจ่ายประจำไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นโดยตลอด ทำให้เรามาถึงจุดอันตราย ขณะนี้รายจ่ายที่อยากจะตัดทอน เงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการผ่านงบประมาณรายจ่าย ล้วนเป็นเงินกู้ที่มีภาระ จะต้องหาเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระคืนในอนาคตทั้งหมด หนี้ของรัฐบาลเป็นเช่นไร หนี้ของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น ใครที่พอจะเข้าใจเรื่องการเงินการคลังที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปีที่ผ่านมาและในอนาคต ย่อมรู้ดีว่านี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤติการคลังในอนาคต ซึ่งจะส่งเสียงดังมากขึ้นและมีความถี่มากขึ้นทุกขณะ การทำถูกกฎหมายหรือการทำตามกฎหมายอย่างครบถ้วนนั้น ที่เราชอบพูดกันว่าอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ได้แปลว่าจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม การทำตามกฎหมายอย่างครบถ้วน ก็สามารถนำไปสู่วิกฤติและหายนะได้เช่นกัน หากกระทำอย่างไม่ระมัดระวังและรอบคอบ

นายวีระ กล่าวว่า เท่าที่ตนติดตามการทำงบประมาณอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี ตนอยากบอกว่าบัดนี้ ประเทศเราได้ติดกับดักการจัดทำงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าหากดูการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ก็จะเข้าใจสิ่งที่ตนตั้งข้อสังเกต

นายวีระ เปิดเผยว่า งบปี 68 มีการตั้งค่าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐสูงถึง 410,253 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการชำระคืนเงินต้นเพียงแค่ 150,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ยังไม่ต้องพูดถึงการชำระคืนหนี้ให้สถาบันการเงินของรัฐที่ออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อน ซึ่งเป็นรายการงบประมาณที่มียอดคงค้างไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท

“นี่คือการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะการเงินการคลังของรัฐ ในปัจจุบันและอนาคตอย่างแท้จริง ถ้าหากไม่ยับยั้งหรือบริหารจัดการแก้ปัญหาเสียตั้งแต่ต้นมือ สิ่งที่เป็นภาระทางการคลังก็จะกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลัง และสุดท้ายนำไปสู่วิกฤติการคลังได้ในที่สุด ถ้าไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ ผมหวั่นใจว่าเราอาจจะต้องประสบวิกฤติการคลังในอนาคต ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในการแก้ไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายวีระ กล่าว.