เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2568  วาระ 2 เป็นการพิจารณารายมาตรา

ต่อมาเวลา 09.50 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณลงอีกราว 2 แสนล้านบาทให้เหลือ 3.5 ล้านบาทเศษ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐวิสาหกิจถูกปรับลดไปครึ่งหนึ่งจากที่ของบประมาณมา บางหน่วยงานถูกตัดงบจนไม่เหลือเลย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่ง ธ.ก.ส. ของบประมาณมา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในแผนบริหารชำระหนี้ไม่ถูกตัดงบ แต่ส่วนของแผนยุทธศาสตร์กลับถูกตัดงบประมาณลงทั้งหมด รวมแล้วรัฐวิสาหกิจที่เป็นธนาคารของรัฐ ถูกตัดงบลงไป 3.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดงบของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม ตัดลงไป ร้อยละ 7 ในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ ประมาณ 120 ล้านบาท, กระทรวงดิจิทัลฯ ตัดงบประมาณของระบบเตือนภัย Cell Broadcast เนื่องจากซ้ำซ้อนกับงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่สำนักนายกฯ ตัดงบงวดงาน และงบประมาณในส่วนของโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ส่วนกระทรวงกลาโหมถูกตัดงบประมาณน้อยกว่าทุกปี

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า งบบางส่วนที่ไม่ควรตัดกลับถูกตัด เช่น ธนาคารรัฐวิสาหกิจ และยังมีส่วนที่เป็นไขมันและยังรีดได้อีกมาก คือโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่สมเหตุสมผล ยังขาดเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เช่น โครงการ Anywhere Anytime ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการถกเถียงว่าใช้งบประมาณทำแบบเรียนออนไลน์สูงเกินจริง และสุดท้ายไม่ได้ตัดงบประมาณส่วนนี้ โดยอีก 3 วันต่อไปนี้ จะมีการอภิปรายลงรายละเอียดว่ามีงบประมาณส่วนใดที่เป็นไขมันสามารถตัดออกได้อีกบ้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เหตุผลที่จำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลง เพราะเราไม่ได้มีศักยภาพมากพอจะใช้จ่ายงบประมาณถึง 3.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากงบประมาณ 2568 ได้ประมาณการรายได้มาตั้งแต่ ธ.ค. 2566 ที่ประมาณการรายได้ไว้ถึง 2.887 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะโตขึ้น ร้อยละ 3.2 แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง

“ปี 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจเหลือ  ร้อยละ 2.5 แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยตรง ปี 2568 ก็เช่นเดียวกัน ถูกปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ  ร้อยละ 3.0 เท่านั้น แล้วเราจะจัดเก็บรายได้เท่าเดิมที่ประมาณการไว้คือเกือบ 2.9 ล้านล้านบาท ได้อย่างไร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลง แต่ประมาณการรายได้ของปี 2568 ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย และเมื่อมีแนวโน้มจะจัดเก็บรายได้ไม่ตรงตามที่คาดหมายไว้ ยิ่งควรปรับลดงบประมาณลง ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรพสามิต ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2567 ว่าจะจัดเก็บรายได้เกือบ 6 แสนล้านบาท แต่เก็บจริงกลับหลุดเป้าไปเกือบ 7 หมื่นล้านบาท เก็บได้อย่างไรก็ไม่น่าเกิน  530,000 ล้านบาท เนื่องจากเรามีการปรับลดภาษีราคาน้ำมันเพื่อช่วยค่าครองชีพ และปรับภาษีรถยนต์ EV เพื่อกระตุ้นการลงทุนในรถ EV รวมถึงบุหรี่ที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ และพลาดเป้าไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และในปี 2568 ก็ตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่าจะจัดเก็บรายได้ถึง 609,700 ล้านบาท แต่เก็บจริงจะได้เท่าไหร่ ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปไม่ได้  เพราะนโยบายภาษี EV ยังไม่แนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างใด เพราะยังมีความท้าทายจากบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า และกรมสรรพสามิตก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทีว่าอัตราภาษี ดังนั้นเป้าที่ตั้งไว้ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพื่อความระมัดระวังและสามารถที่รองรับสภาวะที่ไม่แน่นอนในอนาคตได้ขอปรับลดงบประมาณอีกราว 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 3.5 ล้านล้านบาทเศษ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว.