ผลจากคลัสเตอร์ซุ้มเหล้ายาดองมรณะที่คร่าชีวิตนักดื่ม และหลายรายโคม่า ชัดเจนว่ามาจากพิษของสารที่ไม่ควรอยู่ในส่วนผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง เมทาเอล และไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ หรือ IPA

2พี่น้องต้นเหตุคลัสเตอร์ยาดองมรณะปฏิเสธทุกข้อหา อ้างส่วนผสมในเหล้าคนกินได้

สารเหล่านี้มีอันตรายแค่ไหน เหตุใดจึงพบอยู่ในวงจรการนำมาบริโภค “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามหลายประเด็นน่าสนใจกับ นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม และพญ.บุษกร ไพศาลโรจนรัตน์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แพทย์เฉพาะทางพิษวิทยา และเภสัชวิทยาคลินิก รพ.นพรัตนราชธานี

นพ.กิติพงษ์ เผยว่า แอลกอฮอล์ที่คนทั่วไปรู้จักและคุ้นเคยมี 3 ตัว คือ เอทานอล, เมทานอล และ IPA โดยเมทานอลและ IPA เกิดจากขบวนการทางปิโตรเคมี ต่างจากเอทานอลที่เกิดจากการนำพืชมาหมัก สารเหล่านี้จึงถูกนำไปใช้ในรูปแบบที่ต่างกัน ในส่วนการผลิตสุรา หรือแอลกอฮอล์ชนิดดื่ม แม้จะใช้เอทานอลเป็นหลักแต่อาจมีเมทานอลเจือปนได้ ดังนั้น จึงมีข้อกำหนดกรมสรรพสามิต ไม่ให้มีเมทานอลเกินค่า 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร

กรณีที่พบการนำสารต่างๆ มาผสมเป็นสุราแทนเอทานอลนั้น คาดว่ามาจากเรื่องต้นทุนต่อหน่วยการผลิต แต่ในส่วนที่ใช้ IPA ผสม น่าจะเป็นเพราะมีโมเลกุลขนาดใหญ่ สามารถเข้าสู่สมองได้ดี ทำให้เกิดความมึนเมาได้รวดเร็วกว่า หรืออีกส่วนสันนิษฐานว่ามาจากความไม่รู้

ขณะที่การเข้าถึงแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิดนี้คนทั่วไปสามารถหาซื้อได้หรือไม่ นพ.กิติพงษ์ ยกตัวอย่าง เอทานอลจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้น กรณีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ผู้ซื้อต้องขออนุญาตและบอกวัตถุประสงค์กับผู้แทนจำหน่ายผู้เดียวคือ องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ส่วนเมทานอล และ IPA เป็นเคมีภัณฑ์ สามารถหาซื้อได้ตามร้านเคมีภัณฑ์ทั่วไป

ร้านยาดองที่ต้องรับสุราขาวจากแหล่งอื่นมาผสมจะสังเกตความผิดปกติหรือแยกแยะสารด้วยตัวเองได้หรือไม่ นพ.กิติพงษ์ กล่าวว่า การแยกสารหลักๆ แบ่งเป็น แบบความแม่นยำสูง เชื่อถือได้ ในส่วนนี้ประชาชนอาจทำไม่ได้ ต้องทำในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องราคาและผู้เชี่ยวชาญการแปลผล

ส่วนที่จะสามารถทดสอบได้ด้วยตนเองนั้น อ้างอิงตามข้อมูลมหาวิทยาลัยมหิดลมีวิธี 4 ประการ 1.การวัดหาจุดเดือด 2.การดูเปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้สารที่จะทดสอบ 3.การดูสีเพื่อทดสอบทางเคมี และ 4.ดูความเร็วในการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำส้มสายชู กับเกล็ดด่างทับทิม

“วิธีต่างๆ เหล่านี้ โดยหลักจะแยกได้แค่เมทานอล กับไม่ใช่เมทานอล ส่วนเอทานอล และไอโซโพรพิลจะแยกค่อนข้างยาก”

พร้อมชี้แจงถึงการแบ่งแอลกอฮอล์เป็นแบบ Food Grade ว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่าต้องกินได้เสมอไป คำว่า Food Grade หมายความว่าเป็นการใช้สำหรับผู้บริโภค ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว หรือการผสมยา

ด้าน พญ.บุษกร ให้ข้อมูลการสังเกตอาการหากได้รับสารดังกล่าวว่า เนื่องจากสารทั้ง 3 ตัว จัดอยู่ในกลุ่มแอลกอฮอล์ อาการแรกจะมีลักษณะคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง รวมไปถึงมึนเมา ในอาการมึนเมาจะแปลไปตามลักษณะของขนาดโมเลกุล หากโมเลกุลใหญ่ ความมึนเมาจะมากกว่า เช่น IPA จะมีความมึนเมาได้มากกว่า

สำหรับพิษแต่ละตัวเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีดังนี้ 1.เมทานอล อาการสำคัญคืออวัยวะปลายทางอย่างไต กับปัญหาด้านสมองที่ต้องประเมินในระยะยาว อาจส่งผลต่อความจำ ความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือความสามารถในการทรงตัวเคลื่อนไหว และลักษณะการมองเห็นที่ผิดปกติ 2.IPA ถือเป็นสารตั้งต้น จะทำให้เกิดอันตรายสูงกว่าตัวที่เป็นสารปลายทาง หากได้รับจะมีปัญหาทางสมอง มีอาการซึม ชัก รวมถึงระคายเคืองทางเดินอาหาร ต้องระวังกระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ และ 3.เอทานอล หากรับไปในปริมาณมากก็อันตราย อย่างที่ปรากฏให้เห็นคือ เรื่องการหายใจและเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเมทานอล และ IPA เป็นสารที่ไม่ควรกินเด็ดขาด แม้ร่างกายของเราจะมีกระบวนการกำจัดออกจากร่างกายได้บ้างก็ตาม

ทั้งนี้ พญ.บุษกร ทิ้งท้ายถึงประชาชนหากสงสัยว่าได้รับสารพิษกลุ่ม Toxic Alcohol ทั้งหมด ให้รีบไป รพ.เพื่อพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และไม่แนะนำให้ล้วงคอ หรือการกินสารบางอย่างที่กระตุ้นให้อาเจียนออกมา เพราะกลุ่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดมีการดูดซึมค่อนข้างเร็ว หากรีบมา รพ.เมื่อมาถึงแพทย์จะรีบทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความผิดปกติ

ที่ผ่านมากลุ่มที่ได้รับสารเหล่านี้มักมาจากเคสคนไข้ที่ต้มเหล้าเถื่อนกินเองซึ่งมีโอกาสปนเปื้อนเมทานอลสูง ว่าคนไข้มีปัญหาของค่าแล็บที่ผิดปกติหรือไม่ จะเป็นการดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาทางตนได้เคยพบกับคนไข้ในเคสลักษณะดื่มสุราแล้วพบพิษจากสารเหล่านี้ เช่น คนไข้ที่ต้มเหล้าเถื่อนกินเอง จะพบค่าเมทานอลสูงปนอยู่ด้วยจากกระบวนการกลั่นทำให้เป็นอันตราย.

“ทีมข่าวอาชญากรรม”