แม้เกาหลีใต้มีบริการดูแลสุขภาพที่ก้าวหน้า และมีความพยายามอย่างแน่วแน่มานานหลายสิบปี ทว่าการบรรลุสถานะ “ปลอดมาลาเรีย” ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากประเทศมีอาณาเขตติดกับเกาหลีเหนือ ซึ่งมีโรคนี้ระบาดอยู่

ทางการเกาหลีใต้ออกคำเตือนโรคมาลาเรียทั่วประเทศในปีนี้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่นขึ้น และฝนที่ตกหนักกว่าเดิม อาจนำโรคที่มียุงเป็นพาหะ มาสู่คาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น นอกเสียจากว่า ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ “จะร่วมมือกัน”

ทั้งนี้ ปัญหาหลักคือ เขตปลอดทหาร (ดีเอ็มซี) ซึ่งเป็นพื้นที่ไร้เจ้าของ ที่มีความกว้าง 4 กิโลเมตร ทอดยาวตลอดแนวชายแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ 250 กิโลเมตร ปกคลุมไปด้วยป่าไม้เขียวขจีและพื้นที่ชุ่มนํ้า และแทบไม่มีใครเข้าไปเลย นับตั้งแต่การจัดตั้งดีเอ็มซี หลังการหยุดยิงเพื่อยุติสงครามเกาหลี เมื่อปี 2496

หลังจากนั้น พื้นที่กั้นพรมแดนที่มีทุ่นระเบิดจำนวนมากแห่งนี้ ก็กลายเป็นแหล่งหลบภัยทางระบบนิเวศ สำหรับสัตว์สายพันธุ์หายาก แต่ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในอุดมคติ ซึ่งรวมถึงยุงก้นปล่อง ที่สามารถบินได้ไกลถึง 12 กิโลเมตรด้วย

“เขตปลอดทหารมีนํ้าขัง และสัตว์ป่าจำนวนมาก ซึ่งเอื้ออำนวยให้ยุงสามารถดูดเลือดและวางไข่ได้” นายคิม ฮยอน-วู นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (เคดีซีเอ) กล่าว

อนึ่ง เกาหลีใต้เคยเชื่อว่ากำจัดโรคมาลาเรียได้แล้ว แต่ในปี 2536 ทางการกลับพบว่า ทหารนายหนึ่งที่ประจำการบริเวณดีเอ็มซี ติดเชื้อ และโรคนี้ยังคงแพร่ระบาดอยู่เรื่อยมา โดยในปีที่แล้ว เกาหลีใต้มีผู้ป่วยโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นเกือบ 80% เป็น 747 ราย จากเดิม 420 ราย ในปี 2565

เนื่องจากประชากรยุงเพิ่มขึ้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเกาหลีใต้จึงติดตั้งอุปกรณ์ติดตามยุง 76 เครื่องทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่สำคัญใกล้กับเขตปลอดทหาร

กระนั้น โรคมาลาเรียแพร่ระบาดอย่างหนักทางเหนือของพรมแดน โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า เกาหลีเหนือมีผู้ป่วยมาลาเรียเกือบ 4,500 ราย ระหว่างปี 2564-2565 ซึ่งความยากจนข้นแค้น และความไม่มั่นคงทางอาหาร มีส่วนทำให้สถานการณ์ในประเทศเลวร้ายยิ่งขึ้น

แม้ชาวเมือง, ผู้ป่วย, นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ต่างหวังว่าทางการจะดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย แต่การที่รัฐบาลเปียงยางประกาศให้รัฐบาลโซล “เป็นศัตรูโดยหลักการ” ในปีนี้ และตัดขาดการติดต่อกับอีกฝ่าย ตลอดจนปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลายครั้งหลายหน ความร่วมมือในการจัดการกับโรคมาลาเรีย ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น.