เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้รับทราบการที่ประเทศไทยถอนข้อสงวนข้อที่ 22 เรื่องเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ส่งผลให้ประเทศไทยยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยสมบูรณ์ไม่มีข้อสงวน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 โดยขณะนั้นได้ตั้งข้อสงวนไว้ที่ไม่พร้อมจะปฏิบัติตาม จำนวน 3 ข้อ ได้แก่ ข้อ 7 ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด สถานะบุคคลและสัญชาติ ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ซึ่งในวันที่ 11 เมษายน 2540 ประเทศไทยได้แจ้งต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการถอนข้อสงวนข้อที่ 29 ต่อมาในวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยได้แจ้งการถอนข้อสงวนข้อที่ 7 และล่าสุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ประเทศไทยได้แจ้งการถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่มีการตั้งข้อสงวนไว้

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 22 มีเนื้อหาสองวรรค วรรคแรกบอกว่า รัฐจะดำเนินมาตรการให้เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสม วรรคที่สอง ระบุว่า รัฐจะให้ความร่วมมือกับองค์กรทั้งหลายในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็ก และในการติดตามหาบิดา มารดา หรือสมาชิกอื่นของครอบครัวของเด็กผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการกลับไปอยู่ร่วมกันใหม่เป็นครอบครัวของเด็ก ในกรณีที่ไม่สามารถค้นพบบิดา มารดา หรือสมาชิกอื่น ๆ ของครอบครัวเด็กนั้นจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเด็กที่ถูกพรากจากสภาพครอบครัว

การถอนข้อสงวนเป็นเรื่องที่ดียิ่งสำหรับเด็กซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ที่จะเป็นอนาคตของมนุษยชาติ สิ่งที่ต้องช่วยกันต่อไปคือ การดูแลเด็กให้ได้รับสิทธิด้านต่างๆให้ครบถ้วนและเป็นจริงตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา ให้เด็กทุกคนได้รับการแจ้งเกิดสถานะบุคคลและสัญชาติ ตลอดจนให้เด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงได้รับการดูแลและมีความปลอดภัยในการอยู่อาศัยในประเทศไทย