ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ว่าด้วยเรื่อง “การให้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ หลังสัมผัสเชื้อฝีดาษวานร”

โดยหมอยง ระบุข้อความว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษวานรโดยตรงที่ทำมาจากเชื้อ Mpox ไม่มีการใช้วัคซีนในปัจจุบัน ก็ใช้วัคซีนที่ทำมาจาก “หนองฝีดาษวัว” แต่เดิมใช้ป้องกันไข้ทรพิษ สามารถเข้ามาป้องกันฝีดาษวานรได้ และมีการพัฒนามาถึง Generation ที่ 3 เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของวัคซีน จึงทำให้มีราคาแพงมากๆ และปริมาณก็ไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษวานร หลังจากให้วัคซีนไปแล้ว 14 วัน จะอยู่ที่ประมาณ 70-80 % แต่การให้เป็นการป้องกันหลังสัมผัสโรค ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำมาก

นอกจากนี้ หมอยง ยังระบุข้อความอีกว่า เห็นได้ว่าตั้งแต่ป้องกันไม่ได้จนถึงประสิทธิภาพสูงสุดประมาณ 20% ดังแสดงในรูป ที่มีการศึกษาและเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ “โรคฝีดาษวานร” ตามหลักการแล้วจะติดต่อได้ง่ายในผู้ที่สัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น นอนเตียงเดียวกัน มีเพศสัมพันธ์กัน ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงที่ควรจะได้รับวัคซีน จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในครอบครัวของผู้ที่ติดเชื้อ หรือกลุ่มรักร่วมเพศ กับคนที่ไม่รู้จัก หรือผู้ที่เดินทางไปในแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม การติดต่อของโรคในปัจจุบัน ยังไม่ได้ง่ายแบบการติดเชื้อโควิด 19 ในคนทั่วไป ถึงแม้จะเป็นบุคลากรด่านหน้า เมื่อมาพิจารณาแบบองค์รวมแล้ว รวมทั้งภาระโรคและความรุนแรงของโรค ราคาของวัคซีน ความยากง่ายในการหาวัคซีน จึงยังไม่มีความจำเป็น ณ วันนี้ ที่จะต้องทำ ring vaccination นอกจากว่าในอนาคตพบว่าฝีดาษวานร มีคุณลักษณะเหมือนกับไข้ทรพิษ แน่นอนทุกคนควรจะได้รับวัคซีน

ขอบคุณข้อมูล : Yong Poovorawan