นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงาน Meta Marketing Summit ว่า กระทรวง ดีอี พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆของไทย ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ผ่านแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ตามนโยบายการขับเคลื่อนง “The New Growth Engine of Thailand”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ กลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ Soft Power ด้านต่างๆของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Digital Economy Hub ที่มีความมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้การขับเคลื่อนดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ Meta ได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับ ททท. และการส่งเสริมองค์ความรู้ข้อมูลเชิงลึกให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สามารถปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบ รวมทั้งการนำ AI เข้ามาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดทั่วโลก
กระทรวง ดีอี เชื่อว่าการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลที่เหมาะสม ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นการสร้างความปลอดภัยในสังคมดิจิทัลที่ปัจจุบันอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน วางแผนสร้างนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการช่วยเหลือทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ (DEPA) การพัฒนากฎหมายที่สร้างความปลอดภัยในสังคมดิจิทัลและเป็นมิตรต่ออุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนให้ความรู้และทักษะ AI ที่จำเป็นต่อการต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล
ขณะเดียวกัน กระทรวง ดีอี ยังได้เสนอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) โดยเพิ่มคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหน้าที่ ศึกษา ทบทวนกฎหมายรองรับการขับเคลื่อนและการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศ จัดทำแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Guideline) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สู่การนําไปปฏิบัติต่อไป เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการนำเทคโนโลยีไปใช้แบบไม่ถูกต้อง สนับสนุน Responsible AI และการพัฒนาทักษะ AI ของประชาชนในทุกระดับ ผ่านการอบรมทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีความพร้อมสำหรับความต้องการของตลาด
“หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล คือ การส่งเสริม Soft Power ผลักดันให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยใช้ต้นทุนและทรัพยากรความหลากหลายทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว อาหารไทย แฟชั่น ศิลปะและดนตรี ที่มีศักยภาพในการดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและเผยแพร่ Soft Power ในแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการในการนำเสนอ Soft Power ของไทยให้เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวาง โดยกระทรวง ดีอี พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูล และพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเพื่อปรับเนื้อหาและการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก” นายประเสริฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้แผนการพัฒนาและสนับสนุน AI เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต และการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการใช้ AI เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น Digital Economy Hub ของภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน