“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ก.ย. นี้ ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก

กรอบการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณที่ตึงเครียดมากขึ้นในตะวันออกกลาง ประกอบกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของสหรัฐ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (US GDP +3.0% QoQ, saar ในไตรมาส 2/2567 สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.8% และสูงกว่า +1.4% ในไตรมาส 1/2567)

เงินบาทกลับมาแข็งค่าและทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ ตามทิศทางเงินหยวนที่แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 ปีในตลาด Offshore ขณะที่ เงินดอลลาร์ ขาดแรงหนุนในช่วงก่อนการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐ ในช่วงตลาดนิวยอร์กวันศุกร์

ในวันศุกร์ที่ 30 ส.ค. 2567 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,179 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,936 ล้านบาท (แม้ซื้อสุทธิพันธบัตร 186 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2,122 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ของไทย สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือน ส.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ก.ค. และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ส.ค. ของญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน