สิ่งที่สร้างความฮือฮาในแวดวงการเมืองอย่างมาก คือ พรรคที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมานานอย่างเพื่อไทย ส่งเทียบเชิญประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล เรื่องนี้ ที่ จ.สุโขทัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ให้สัมภาษณ์ยืนยันความจำเป็นต้องดึงเสียงประชาธิปัตย์มาเพื่อเสถียรภาพ และแก้ไขปัญหาให้ประชาชนผ่านทางการออกกฎหมายในสภาได้ “วันนี้ฝ่ายบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เหมือนในหลายทศวรรษ การที่เราร่วมรัฐบาลกัน ไม่ได้แปลว่าพรรคเพื่อไทย ยอมรับการกระทำของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก เราไม่ได้เชิญพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าร่วม แต่เราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

การได้เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ คือปัจจัยที่ทำให้เรามีเสียงมากพอ” นายกฯ หญิงย้ำ และชี้ตัวเองว่า “นี่ก็คือคนเสื้อแดง” และบอกว่า เราต้องทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ผ่านมาแล้ว 10-20 ปี หลายอย่างเปลี่ยนไป ผู้บริหารก็เปลี่ยนไป แม้ชื่อจะยังเป็นประชาธิปัตย์เหมือนเดิม แต่หลายอย่างในนั้นเปลี่ยนไปมาก ถ้าเรามัวแต่คิดเรื่องการเมืองกันต่อไป ก็จะถ่วงหลังประเทศ สิ่งที่จะบอกคนเสื้อแดงคือ อิ๊งค์สัญญาจะเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน เข้าใจความรู้สึกของคนเสื้อแดงดี แต่วันนี้เราพร้อมหรือยังที่จะก้าวไปข้างหน้า เห็นประเทศชาติที่ดีขึ้นเตรียมไว้ให้ลูกหลาน ประชาธิปัตย์เหมือนประเทศที่เป็นเผด็จการมา เราไม่ทำการซื้อขายด้วย แต่วันหนึ่งเมื่อเขาเปลี่ยน เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราก็ซื้อขายกับเขา เป็นการมองไปข้างหน้า มองไปที่อนาคต

นายกฯ อิ๊งค์ ยังยืนยันว่า มีเหตุผลหลายอย่างที่ไม่อาจร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ และขอให้ประชาชนอย่าสนใจเรื่องการฟ้องร้องที่ไร้สาระ พร้อมย้ำคำเดิมว่า นายทักษิณ ชินวัตร บิดา ไม่เคยมาครอบงำ สำหรับรายชื่อ ครม. “แพทองธาร 1” ยังคงต้องคัดกรองคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันเรื่องร้องเรียนทีหลัง ซึ่งมีการสอบถามว่า “ใครมีคดีอยู่กับ ป.ป.ช.” ด้วย แต่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า ไม่ขอเปิดเผยว่าใครยังมีคดีอยู่ใน ป.ป.ช. บ้าง เรื่องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกเพียงว่า “อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ โดยยังไม่ได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ” นายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำหนังสือคุณสมบัติรัฐมนตรีมาส่งที่ตึกชินวัตร 3 พร้อมทั้งยอมรับว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ประโยคว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร การร่วมรัฐบาลครั้งนี้ พรรคจะผลักดันนโยบายของพรรค หากทำงานได้ตามนโยบายและประชาชนพึงพอใจ รัฐบาลก็มีโอกาสอยู่จนครบวาระ

ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ หลังมีกระแสข่าวว่าจะได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ติดต่อมา ถึงติดต่อมาก็ไม่สนใจ ยังยืนยันในจุดยืนเดิมที่แถลงไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และมาทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านอิสระในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการตั้ง ครม. ล่าช้า คือ “การตรวจสอบคดีเกี่ยวกับผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย” ซึ่งมองกันได้หลายอย่าง ทั้งเป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติทั่วไปในกรณีต้องกลับมารับโทษ แต่กลับนอนโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ถึง 120 วัน และอาจมองเป็นประเด็นทางการเมืองได้ ว่า “จะเป็นคดีที่นำมาใช้รัดคอต่อรองกับรัฐบาลแพทองธาร” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดข้อความแชตไลน์ยืนยันได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ขณะนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ โดยบอกว่า ได้เข้าพบนายทักษิณถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 และอีกครั้ง ในวันที่ 10 ก.พ. 2567

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยมอดีตนายกฯ ในบรรดารายชื่อผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ตามที่ระบุไว้ 10 รายชื่อนั้น มีเพียงญาติและทนายความ ส่วนข้อความที่ปรากฏเป็นแชตไลน์ ก็ไม่สามารถไปบอกได้ว่าเป็นไปได้อย่างไร กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยและควบคุมให้เป็นตามระเบียบ การจะมีบุคคลใน 10 รายชื่อ พาเข้าไปเยี่ยมแทน ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ผู้คุมก่อน จากรายงานไม่เคยมีการอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยมนายทักษิณ นอกจากนี้ ในช่วงที่นายทักษิณ นอนพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

กรมราชทัณฑ์ก็มีการจัดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผลัดเวรยาม 24 ชั่วโมง ต้องดูว่า ที่ พล.ต.อ.เสรีศุทธ์ เตรียมจะเปิดเผยเพิ่มเติมคือเรื่องอะไร แต่กรมราชทัณฑ์ยืนยันได้และพร้อมชี้แจง แหล่งข่าวระดับสูงของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำของนายทักษิณ ในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. หากข้อมูลใดเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ต้องพินิจว่าจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้นั้นด้วย ขั้นตอนแนวทางในการไต่สวน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จะต้องกำหนดข้อซักถามที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคลในเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อดูว่าข้อมูลเหล่านั้น สามารถเชื่อมโยงไปถึงผู้รับผิดชอบระดับใดบ้าง หรือบุคลากรนอกหน่วยงานใครบ้างหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการควบคุมดูแลนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 นาย ที่จะต้องเข้าให้ปากคำกับ ป.ป.ช. รวมถึงผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ด้วย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบนายทักษิณอยู่ชั้น 14 นั้น ป.ป.ช. ตรวจสอบไปมากแล้ว มีข้อมูลมาพอสมควร ป.ป.ช. ได้ขอภาพกล้องวงจรปิดชั้น 14 ไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจอยู่ตลอด รวมถึงได้ขอข้อมูลเวชระเบียนของนายทักษิณ และข้อมูลอื่นๆ ไปอีกหลายเรื่อง

การเมืองอื่น ๆ นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรม 44  สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อแก้ไข ป.อาญา ม.112 ว่า ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน และอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยทยอยเชิญ สส. ทั้ง  44 คน และพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำแล้ว ตามกรอบกฎหมายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่ ป.ป.ช. คงไม่รอ การตรวจสอบในเรื่องของการฝ่าฝืนจริยธรรมต้องดูพฤติการณ์ประกอบหลายอย่างต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลเป็นหลัก

ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิ แถลงข่าวว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตาม พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว. ที่เสนอให้ กมธ. เหลือ 21 คณะ จาก 28 คณะ เสมือนมีอะไรบางอย่างบอกมาว่า ต้องเอาตามนี้ จึงค่อนข้างไม่สบายใจ เพราะตั้งแต่การคัดเลือก สว. ในทุกระดับมีการบล็อก และบล็อกมาจนกระทั่งจำนวน กมธ. ตอนนี้มีข่าวแว่วว่าจะบล็อกคนเป็นประธาน กมธ. ทั้งหมดด้วย “ต้องใช้คำว่าลูกคุณช่างบล็อก บล็อกจนทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถ และความตั้งใจเป็น กมธ. แทบจะหมดโอกาสที่จะเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง อยากขอให้ทบทวน และเห็นโอกาสคนที่อยากจะทำงานให้กับส่วนรวม โดยที่ไม่ถูกบล็อกบ้างได้หรือไม่ หรือถ้าจะบล็อก ก็บล็อกแค่ 15 คณะได้หรือไม่อีก ให้อีก 6 คณะ ที่เหลือให้คนที่เสียงข้างมากไม่สนใจได้ทำงาน เพราะถ้าตั้งขึ้นมาแล้ว ก็ยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลง อยู่จนครบ 5 ปี” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว