สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่าอินโดนีเซียเลื่อนแผนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอีกครั้ง แม้มีการเรียกร้องเพิ่มขึ้น เกี่ยวกับการควบคุมโรคอ้วน และโรคเบาหวาน

ระหว่างการพิจารณาร่วมกับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 11 ซึ่งกำกับดูแลการเงิน นางศรี มุลยานี รมว.คลังอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ในปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในเด็ก โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนถึงการเลื่อนการจัดเก็บภาษี

ก่อนหน้านี้ นายนิรวาลา ดวี เฮริยันโต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและแนวทางสำหรับผู้ใช้บริการศุลกากรอินโดนีเซีย กล่าวว่า ความล่าช้าของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนั้น เกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในขณะนี้ “แม้จะรวมภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและผลิตภัณฑ์พลาสติกไว้ในงบประมาณปี 2568 แต่เราไม่สามารถนำภาษีสรรพสามิตมาใช้ได้อย่างแน่นอน จนกว่ารัฐบาลจะออกกฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีดังกล่าว” เขากล่าว

กระทรวงการคลังอินโดนีเซียได้พิจารณา แนวคิดการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ต้องเผชิญกับความล่าช้าเป็นอย่างยิ่ง อันเนื่องมาจากการต่อต้านจากนิติบุคคล

อนึ่ง ภาษีเครื่องดื่มมีน้ำตาลและผลิตภัณฑ์พลาสติกเคยจะถูกรวมอยู่ในงบประมาณปี 2566 แต่การดำเนินการถูกยกเลิก โดยมีการอ้างถึงการพิจารณาแนวทางทางกฎหมายที่ยังคงดำเนินอยู่ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ในเวลาต่อมา รัฐบาลกล่าวว่า ภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและผลิตภัณฑ์พลาสติกจะนำมาใช้ในงบประมาณปี 2567 เพื่อจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมีน้ำตาลให้ได้ปีละ 1.8 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 3,961 ล้านบาท) แต่การดำเนินการได้ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง

ผลการสำรวจสุขภาพชาวอินโดนีเซียประจำปี 2566 (เอสเคไอ) จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ พบว่า จากจำนวนประชากรอินโดนีเซียจำนวน 270 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานราวร้อยละ 11.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.5.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES