เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 67 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย โพสต์ว่า สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แพร่เถอะครับ บทเรียน 50 ปี

การป้องกันน้ำเชี่ยวท่วมหลากริมแม่น้ำด้วยพนังกั้นน้ำที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ผลที่ได้แทนที่จะให้ความปลอดภัย กลับกลายไปเป็นอันตรายอย่างฉับพลัน

พะเยา น่าน และแพร่ ฝน 5 วันมากถึง 500-700 มม. หากคำนวณเป็นน้ำท่าอาจจะมากถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม. น้ำจำนวนนี้ไหลผ่านแม่น้ำยมที่แพร่ด้วยปริมาณถึง 1,700 cu.sec. สำหรับแพร่ยอมปล่อยให้น้ำกระจายเข้าไปในเมืองและในพื้นที่เกษตร แต่ครั้นมาถึงสุโขทัย ได้เลือกที่จะสร้างคันดินตามขอบลำน้ำ หรือใช้ผนังคอนกรีตมาเรียงยาวตามขอบพื้นที่ลุ่ม และเกือบไม่เสริมความแข็งแรงใดๆ เลย โดยเฉพาะฐานราก

การทำอย่างนี้ หากน้ำไม่มาก พนังก็จะพอคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากน้ำท่วมได้ แต่เมื่อใดก็ตามน้ำสูงเกินพนังกั้น ก็จะเกิดการล้นเป็นแถบยาวจนควบคุมไม่ได้ ยิ่งหากเป็นทางโค้งน้ำจะเชี่ยวจัดพุ่งกระแทกผนังเกิดรอยแตกใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นหลายสิบแห่งในบริเวณแม่น้ำยมของสุโขทัย ดังนั้นต่อไปนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคิดให้รอบคอบว่า จะเลือกแบบไหน หากเลือกแบบแพร่ น้ำก็จะท่วมกระจายต้องทนเอาสักอาทิตย์หนึ่ง แต่ถ้าจะเลือกแบบสุโขทัย หากโชคดีก็รอดไป แต่หากโชคร้ายพนังพัง ซึ่งจะเกิดอย่างฉับพลันก็อาจจะเกิดอันตรายและความเสียหายกับทรัพย์สินได้มาก

สำหรับสุโขทัยนั้น แน่นอน การผันน้ำ (Detour) โดยใช้ประตูน้ำหาดสะพานจันทร์เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จตลอดความยาว 30 กม. ภายในหนึ่งปีนับจากนี้ให้ได้ มิเช่นนั้น เหตุการณ์อย่างปีนี้ก็จะเกิดกับจังหวัดสุโขทัยอีก

แต่สำหรับแพร่ ผมเห็นว่าจำเป็นจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แพร่ เพราะเราจะปล่อยให้แม่น้ำยม ไม่มีเครื่องมือควบคุมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มีคนพูดกระทบเชิงเปรียบเทียบว่า การไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นชัยชนะของคนเป็นจำนวนพันของตำบลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนนับล้านในแพร่ สุโขทัย พิจิตร และพิษณุโลก เชื่อผมเถอะ เห็นกับประโยชน์คนส่วนใหญ่ ต้องเอากลับมาพูดกันอย่างจริงจังอีกครั้งแล้ว

เสียใจด้วยครับสำหรับผู้เสียหาย และขอให้กำลังใจกับทุกคน (ภาพนี้คือบ้านวงศ์บุรีที่แพร่ อายุสองร้อยปีของบรรพบุรุษภรรยา)