นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคม ยังคงเดินหน้านโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด โดยเฉพาะรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งเป็น 2 สายแรกที่กระทรวงคมนาคมได้เริ่มนำร่องดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66 และกำลังจะครบกรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้ดำเนินการถึงวันที่ 30 พ.ย. 67 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แบบไม่มีการเว้นวรรค ซึ่งเมื่อครบกำหนดวันที่ 30 พ.ย. 67 กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อเนื่องทันที ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมสามารถดำเนินการต่อได้เลย แต่หากจำเป็นจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. ชุดใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก กระทรวงคมนาคมก็พร้อมเสนอให้ ครม.ชุดใหม่พิจารณาก่อนที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างดี ปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ กระทรวงคมนาคมยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมที่จะดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกสายให้ได้ภายในเดือน ก.ย. 68 ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งผลักดันการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ต่อ ครม.ชุดใหม่ เพื่อจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงาน และลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม โดยปัจจุบันกรอบเวลาการดำเนินงานในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว อาจจะล่าช้าไปประมาณ 1 เดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างนี้ได้เสนอร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น และเป็นไปตามเป้าหมายการดำเนินงานค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายทุกสายให้ได้ในเดือน ก.ย. 68 อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการดำเนินงานตามมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66-31 ก.ค. 67 หรือประมาณ 9 เดือนครึ่ง พบว่า มีปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง รวม 26,922,131 คน เพิ่มขึ้น 26.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค. 65-31 ก.ค. 66) ที่มีผู้โดยสาร 21,301,021 คน 

สายสีแดง ผู้โดยสาร 8,218,858 คน เพิ่มขึ้น 51.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ที่มีผู้โดยสาร 5,427,654 คน ส่วนสายสีม่วง ผู้โดยสาร 18,703,273 คน เพิ่มขึ้น 17.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ที่มีผู้โดยสาร 15,873,367 คน ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณรายได้ค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66-31 ก.ค. 67 หรือประมาณ 9 เดือนครึ่ง พบว่า รายได้รถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง รวมอยู่ที่ 432.48 ล้านบาท ลดลง 18.87% หรือประมาณ 100.56 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ที่มีรายได้รวม 533.04 ล้านบาท โดยสายสีแดง รายได้อยู่ที่ 160.66 ล้านบาท ลดลง 1.68% หรือประมาณ 2.75 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ที่มีรายได้อยู่ที่ 163.41 ล้านบาท ส่วนสายสีม่วง รายได้อยู่ที่ 271.82 ล้านบาท ลดลง 26.46% หรือประมาณ 97.81 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ที่มีรายได้อยู่ที่ 369.63 ล้านบาท 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร ส่งผลให้การสูญเสียรายได้รวมของทั้ง 2 สายลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับส่วนต่างรายได้ที่สายสีแดงสูญเสียไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เพื่อขอรับการชดเชยส่วนต่างดังกล่าว ส่วนสายสีม่วง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชย โดยสายสีม่วงนั้น หากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 17% จะทำให้ต้องชดเชยรายได้ที่หายไปเป็นเวลา 5 ปี แต่หากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่า 17% อาจทำให้การชดเชยรายได้ใช้เวลาน้อยลง ส่วนสายสีแดงปริมาณผู้โดยสารต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 50% จึงจะมีรายได้เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตามอัตราปัจจุบัน.