เมื่อเวลา 22.45 น.วันที่ 29 ส.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระหว่างกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์และสส. เพื่อพิจารณายืนยันมติของกก.บห. ที่มีมติเอกฉันท์มาก่อนหน้านี้ว่าให้ร่วมรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็น “รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” (ทส.) และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็น “รมช.กระทรวงสาธารณสุข” ตามโควต้าที่พรรคเพื่อไทยจัดให้ โดยมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายสนับสนุนว่า เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ และเร่งสร้างผลงานกอบกู้พรรค เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้พักฟื้นขึ้นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ฝ่ายคัดค้านให้เหตุผล ว่าพรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับระบอบทักษิณที่มีการเลือกปฎิบัติแบ่งแยกประชาชน มีการทุจริตคอรัปชั่น เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและกลุ่ม สร้างความเสียหายให้ประเทศถึงขั้นต้องหนีออกนอกประเทศ และปัจจุบันระบอบนี้ก็ยังอยู่ ซึ่งการจะเข้าร่วมถือเป็นการละทิ้งอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และการละเลยฐานเสียงสนับสนุนพรรคจะทำให้ฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรคน้อยลง เสมือนทำการเมืองแบบไม่รับผิดชอบ

ทั้งนี้ การประชุมร่วมใช้เวลากว่า 3 ชม. ก่อนที่นายเฉลิมชัย จึงได้ขอให้ที่ประชุมมีมติว่าจะรับรองมติของกก.บห.ในการเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 43 เสียง ให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลและเสนอบุคคลทั้ง 2 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลเพื่อไทยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า คนที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 4 เสียง ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์, นายสรรเพชญ บุญญามณี, งดออกเสียง 2

เมื่อถามว่าในพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการพูดคุยถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มีการพูดคุยกันมาตลอดกับผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ทั้ง กก.บห. ,ตัวแทนจังหวัด, สส ทั้งเก่า และสส.ใหม่ แลกเปลี่ยนกันหลายแนวทาง แต่ทุกคนก็เคารพการลงมติของพรรคในครั้งนี้ และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

เมื่อถามว่ามีการกังวลเรื่องคุณสมบัติของตนเองและนายเดชอิศม์ หรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ก็ต้องอยู่ที่คณะกรรมการที่จะต้องมาตรวจสอบ แต่ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็คงจะต้องตรวจสอบอีกครั้ง

เมื่อถามว่าได้วางตัวสำรองไว้หรือยัง นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น

นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้เราจะต้องพูดคุยกับพรรคแกนนำก่อน โดยในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ได้มีการพูดถึงการนำจุดยืนและนโยบายของพรรคบางเรื่อง คือ 1.ต้องยึดหลักพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในระบอบประชาธิปไตย 2.เรื่องการทุจริตคอรัปชั่นจะต้องไม่เกิดขึ้นในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในชุดนี้ 3.เรื่องกระจายอำนาจ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องแนวคิดนี้ที่จะได้รับการพัฒนา 4.เรื่องที่ดินทำกินและราคาพืชผลทางการเกษตร โดยทั้งหมดจะต้องนำไปพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยและจะต้องนำไปบรรจุในนโยบายของรัฐบาล