ตามกำหนดการ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงข่าวประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 30 ส.ค. คงต้องรอดูจะเปิดเผยโครงสร้างของรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคอะไรบ้าง พรรคไหน ใครได้บริหารกระทรวงไหนบ้าง กำหนดตัวบุคคลไว้อย่างไรหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูจะทำให้ฝ่ายบริหารมีประสิทธิภาพหรือไม่ ยิ่งนายกฯ คนที่ 31 ขึ้นมารับตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้ง ไล่ตั้งแต่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกปรับออกไป ทำให้แกนนำและสมาชิกพรรคไม่พอใจ ดูได้จากการแสดงความคิดเห็น หรือกล่าวหาว่า “พรรคเพื่อไทย (พท.) ตระบัดสัตย์ และอย่าประมาท “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่มีบทบาทในกองทัพ และแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนาน เปรียบดังเช่นตะเกียงไม่ไร้น้ำมัน อาจจะมีทีเด็ดในการเอาคืนพรรคแกนนำรัฐบาล วันใดวันหนึ่ง นอกจากนี้การดึง “ประชาธิปัตย์ (ปชป.)” เข้ามาร่วมรัฐบาล ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรค รวมถึงแกนนำพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ก็ไม่พอใจ ที่มีข่าว สส. 6 คนแหกมติพรรค หันไปร่วมงานกับรัฐบาล

นอกจากนี้ “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรค พปชร. ก็เริ่มเดินเกมในการตรวจสอบนายกฯ คนที่ 31 โดยได้ทำหนังสือส่งถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านทางไปรษณีย์อีเอ็มเอส ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กรณีทำหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทต่างๆ ในเครือชินวัตร 21บริษัท เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 มีจริงหรือไม่ เพราะพบว่า มีการไปจดทะเบียนแจ้งลาออกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในวันที่ 19 ส.ค. 67 หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 67 ต้องรอดูต่อไปกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร จะมีกระบวนการยื่นร้องในการตรวจสอบประเด็นอื่นอีกหรือไม่ รวมถึงพรรค ปชป. ที่ได้รับเทียบเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล นอกจากจะมีผู้อาวุโสในพรรคอย่าง “นายชวน หลีกภัย” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย

ขณะที่ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงผลการประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เห็นชอบกำหนดการประชุมใหญ่สามัญของพรรค พปชร. ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารสำนักงานใหญ่พรรค พปชร. โดยมีวาระพิจารณา คือ แต่งตั้ง กก.บห. เพิ่มเติม และแต่งตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า หลังจากพรรค พท. ไม่เอาพรรค พปชร. จะเป็นอย่างไรต่อไป นายไพบูลย์ กล่าวว่าไม่เกี่ยวอะไรกับพรรค พท. เป็นเรื่องของพรรค พปชร. เกี่ยวกับนายกฯ โดยตรง ในเรื่องที่นายกฯ ได้มีสัญญาประชาคม เสมือนหนึ่งเป็นคำมั่น ทั้งนี้อยากจะให้ความรู้ทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 362 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใดๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น แม้ถึงมิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล” ซึ่งนายกฯให้คำมั่นแล้ว และหลังจากนั้นนายกฯ ก็บอกว่าพรรค พปชร. เป็นรัฐบาล มีการโฆษณาเผยแพร่ผ่านสื่อ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนที่สื่อมวลชนไปพูดว่าพรรค พปชร. จะมีปัญหา ขอเรียนว่า พรรคเราสบายมาก หัวหน้าพรรคมีความสุขและมีความเข้มแข็ง แน่วแน่ที่จะดูแลพรรคไปตลอด ไปจนไม่ไหว ควรจะห่วงท่านนายกฯ มากกว่า เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เป็นเรื่องสำคัญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ต้องไปดูกันว่า เจตนารมณ์เพื่อไม่ให้ผู้บริหารขาดคุณธรรม จริยธรรม เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ยืนยันว่ากำลังพูดตามหลักวิชาการ ไม่ได้ขู่ใคร

ต้องรอดูปมข้อกฎหมายดังกล่าว ที่ “นายไพบูลย์” ยกมา จะกลายเป็นหอกที่ตามมาทิ่มแทงภายหลังหรือไม่ เพราะในพรรค พปชร. ก็มีนักร้องมืออาชีพหลายคน ทั้ง “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” และ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” อีกทั้งบารมีของ “พล.อ.ประวิตร” ก็ไม่ธรรมดา เชื่อว่า รัฐบาลภายใต้การของ “นายกฯอิ๊งค์” อาจอยู่ไม่สุข

ส่วนที่เป็นปมร้อนอีกประเด็นหนึ่ง หนีไม่พ้นกรณี “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) แถลงข่าว พรรค สร. ขอถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ตามมติของ กก.บห. ขอมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระว่า สาเหตุที่ตัดสินใจขอถอนตัวนั้น ยอมรับว่าน้อยใจที่ไม่ได้รับความสนใจ อาจเพราะพรรคตนเองมีแค่ 1 เสียง พรรค พท. จึงไม่สนใจ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน เพราะจะได้ไม่ต้องอึดอัดใจในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหลายอย่าง โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ถลุงเงินไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้คนที่เป็นนายกฯ ตัวจริงก็ไม่ใช่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่เป็น “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่คอยควบคุมบัญชาการทุกอย่าง

พร้อมกันนี้ “หัวหน้าพรรค สร.” ยังได้นำแชตข้อความไลน์ที่พูดคุยกับบุคคลหนึ่งที่คอยจัดคิวเข้าพบนายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ขณะพักรักษาตัว เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการเข้าพบนายทักษิณจริง ภายหลังจากที่นายทักษิณ เคยปฏิเสธว่าไม่เป็นเรื่องจริง พร้อมกล่าวว่า ได้เข้าพบนายทักษิณถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือ 14 พ.ย. 2566 และอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ. 2567 โดยทั้ง 2 ครั้ง มีการพูดคุยเรื่องที่นายทักษิณ จะไม่เอาตระกูลวงศ์สุวรรณเข้าร่วมรัฐบาล ส่วนเรื่องอื่นเปิดเผยไม่ได้ ขอให้รอเป็นไฮไลท์ในครั้งต่อไป และขอย้ำว่าการเปิดหลักฐานและการแฉในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดความสัมพันธ์ “หลังจากนี้หากมีการติดต่อมาเทียบเชิญให้เป็นรองนายกฯ ก็จะไม่รับ”

สำหรับหลักฐานในแชตไลน์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ยกรายละเอียดตอนหนึ่งมา เช่น เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 อีกฝ่าย ระบุว่ามี sms จาก “นายกปู” มา อีกทั้งวันที่ 9 ม.ค. 2567 มีการส่งไฟล์ PDF มา หัวข้อเขียนว่า “หนังสือถอนร้องเรียน” โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า เป็นการขอให้ถอนเรื่องร้องเรียน “นายเศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ก่อนที่ต่อมา วันที่ 22 ม.ค. 2567 จะทวงถามว่า “ท่านเซ็นหนังสือส่ง ป.ป.ช. หรือยังครับ” เมื่อถามว่า ถ้ามีการต่อรองให้เก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงจะเอาหรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า “ไปก็โง่สิ เดินมาขนาดนี้ มันก็รบกันท่าเดียว” แน่นอนว่า ขอตัดสัมพันธ์นายทักษิณ คบมา 51 ปีแล้ว ทำได้แค่นี้ จะคบต่อไปทำไม หลังจากนี้ให้รอดูคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเชิญตนไปให้ข้อมูลหรือไม่ ขอบอกเลยว่า จะต้องติดคุกกันทั้งหมด ตั้งแต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผบ.เรือนจำ และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เพราะก่อนหน้านั้น “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ยืนยันไม่ได้พบ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ในระหว่างรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยนอกจากการเปิดหลักฐานเข้าพบ ยังเรียกร้องให้ ป.ป.ช. เรียกไปให้ข้อมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องมีปัญหาในข้อกฎหมาย

นอกจากนี้การที่พรรค พท. ทาบทาม “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” เข้าร่วมรัฐบาล นอกจากจะทำให้พรรคเก่าแก่ที่สุดมีปัญหา เพราะบรรดาผู้อาวุโสในพรรคอย่าง “นายชวน หลักภัย” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ก็ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะ “นายทักษิณ ชินวัตร” สมัยทำหน้าที่นายกฯ เคยบอกบอกว่า จะไม่ให้งบประมาณพัฒนาในพื้นที่ ที่ไม่เลือก สส. พรรคไทยรักไทย (ทรท.) จึงรับไม่ได้กับการกระทำอดีตนายกฯ ที่เป็นผู้มากบารมี

โดย “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” เลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวตอบข้อถามที่ว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบันพรรค ปชป. อยู่มาถึง 70 ปี ทั้งนี้ อยากยกระดับใช่หรือไม่ ถึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนำ ปชป. เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. ว่า ต้องกล้าคิดที่จะเปลี่ยนแปลง พรรค พท. ก็ตั้งพรรคมา 26 ปี เลือกตั้งมาก็ไม่เคยชนะเลย ต้องยอมรับว่าพรรค ปชป. เราแพ้และคะแนนก็ลดลงมาเรื่อยๆ การที่ตนได้รับหน้าที่เป็น กก.บห. ก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้ได้ สส.เพิ่มขึ้น

เมื่อถามอีกว่าทำไมถึงเชื่อว่าในอนาคต หากตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลจะทำให้มีเราได้ สส. เพิ่มขึ้น นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตนมั่นใจ เพราะ สส.เขต ทุกคนพอใจ ประชุมสภาเสร็จในวันพฤหัสตอนเย็นก็ไปอยู่ในพื้นที่ และวันอังคารก็เดินทางกลับเข้ามาประชุมพรรค ทุกคนมาถ่ายทอดเรื่องประชาชน และมาเล่าสู่กันฟัง เราต้องประเมินทุกฝ่าย ส่วนผลการประชุมจะออกมาเป็นอย่างไร เราต้องเคารพ เพราะระบบประชาธิปไตยต้องอยู่ด้วยเสียงส่วนมาก พรรค ปชป. อยู่ได้เพราะเสียงส่วนมาก และมติพรรค ทั้งนี้ มติพรรคว่าอย่างไร ตนก็พร้อมปฏิบัติตาม

ซึ่งในที่สุดมติพรรค ปชป. เห็นชอบให้ร่วมรัฐบาล เพราะ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค ปชป. คุมเสียงข้างมาก ทั้ง สส. และ กก.บห. ซึ่งต้องรอดูว่า บทสรุปสุดท้ายจะทำให้พรรคเก่าแก่ได้ สส.มากกว่าเดิม (25 ที่นั่ง) ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

ขณะที่คนเสื้อแดงบางส่วนอย่าง “นางธิดา ถาวรเศรษฐ” อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีพรรค พท. ส่งเทียบเชิญพรรค ปชป. เข้าร่วมรัฐบาล ว่า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งพรรค พท. ได้ 10 ล้านเสียง ก็ถือว่ามากไปด้วยซ้ำ มาตอนนี้ยังจะเอาพรรค ปชป. มาร่วมอีก ซึ่งรอบหน้าเชื่อว่าคะแนนของพรรค พท. จะลดลงอีก เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชนยังมองว่าเขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนให้กับนักต่อสู้ว่าจะเอาตัวเองไปวางไว้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ พรรค พท. ต้องไม่ลืมว่าทางเดินทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ๆ มีถนนให้เขาเดิน แต่เป็นทางเดินที่ผ่านซากศพประชาชนสร้างถนนให้เขาเดิน

นั่นหมายความว่า พรรค พท. อาจขาดแนวร่วมที่เคยสนับสนุนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ “พท.” ต้องไปขบคิด นอกจากจะต้องสร้างผลงานให้ประชาชนพอใจ ยังต้องเผชิญกับการตรวจสอบของพรรคฝ่ายค้านที่ทรงพลังอย่าง “ประชาชน (ปชน.)”

“ทีมข่าวการเมือง”