เมื่อวันที่ 29 ส.ค. โลกออนไลน์ต่างพูดถึงกันเป็นอย่างมาก สำหรับโพสต์ของ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ออกมาแชร์เรื่องราวอาการของผู้ป่วย ที่สุดท้ายพบเนื้องอกในสมอง

โดยคุณหมอ ได้ระบุว่า “แค่คิดเลขไม่ออก ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ สุดท้ายเป็นเนื้องอกในสมอง ใส่ใจดูแลคนใกล้ตัว” เป็นกรณีผู้ป่วยน่าสนใจมาก อายุ 70 ปี ญาติพามาโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยเล่าให้ฟังว่า แม่คิดเลขไม่ออก นับเลขไม่ได้ ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ เป็นมาประมาณสามเดือน ญาติ เข้าใจว่าเป็นอาการหลงลืมของผู้สูงอายุ จึงไม่ได้ใส่ใจมากนัก ผู้ป่วยยังช่วยเหลือตนเองได้ดีไม่มี แขนขา อ่อนแรง บ่นปวดหัวบ้าง เป็นบางครั้ง จึงตัดสินใจพามาตรวจที่โรงพยาบาลวลัยลักษณ์

พบแพทย์ทั่วไปได้ตรวจอาการเบื้องต้นสงสัยเป็นภาวะผิดปกติทางสมอง จึงปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดสมองและระบบประสาท เมื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด พบอาการที่สำคัญคือ ผู้ป่วยสับสนไม่รู้ข้างซ้ายข้างขวา ทดสอบโดยให้เอานิ้วชี้ซ้ายแตะติ่งหูขวากลับทำไม่ได้เหมือนเดิม ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ ไม่รู้ว่านิ้วไหนเป็นนิ้วไหน ลองให้คนไข้หลับตา จับ ถามว่านิ้วอะไร หรือจับนิ้วอะไรบ้าง ตอบไม่ได้เลย ลองให้นับเลขและบวกเลขง่ายง่ายกลับทำไม่ได้ ลูกหลานงงกันไปหมด ให้จับปากกาเขียนหนังสือ ก็เขียนไม่ได้เหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยยังเดินได้ไม่ มีแขนขา อ่อนแรง

“อาการดังกล่าวทั้งต้นของผู้ป่วย ในทางการแพทย์เรียกว่ากลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่ควบคุมการทำงานของร่างกายดังกล่าว เรียกกลุ่มอาการดังกล่าวว่า Gerstmann’s syndrome” ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ได้ส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เนื้อสมอง พบว่ามีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ที่สมองซีกซ้าย ขอบของเนื้องอก ไม่ชัดเจน

ภาพทางรังสี ทำให้วินิจฉัยโรค ที่เป็นไปได้มากที่สุด น่าจะเป็นเนื้องอกสมอง ที่เรียกว่า Glioma ทีมแพทย์ได้แนะนำให้ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดหากปล่อยทิ้งไว้ตัวเนื้องอกสมอง อาจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนอกจากทำลายเนื้อเยื่อสมองในส่วนที่ยังดีอยู่ จะไปกระทบต่อ เนื้อสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีแรงดันในสมองสูง ปวดศีรษะ และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงตามมา

จึงได้เตรียมผู้ป่วยวางแผนผ่าตัด ผ่านกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงและอาศัย เนวิเกเตอร์ ช่วยนำทางเพื่อให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และทำลายเนื้อเยื่อสมองส่วนดีน้อยที่สุด ใช้เวลาผ่าตัด 5 ชั่วโมง สำเร็จด้วยดี เมื่อติดตามอาการหลังผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยฟื้นตัวตามลำดับ และต้องมีการบำบัดฟื้นฟู ทั้งการพูดการเขียนการอ่าน และการออกกำลังกาย ให้กลับมาปกติหรือใกล้เคียงปกติโดยเร็วที่สุด..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Arak Wongworachat