เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุ บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ กรณีพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่สบายใจกับพฤติกรรมของหัวหน้าพรรคที่ไม่มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเบื้องหลังของการที่ 40 ส.ว. ยื่นถอดถอนอดีตนายกเศรษฐา จนเกิดการแย่งชิงเสนอชื่อตำแหน่งโควต้ารัฐมนตรีจากภายในพรรคดังกล่าว นั้น

กรณีการแต่งตั้งสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน 35 คน นั้น เป็นอำนาจและหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรี ปรากฎตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้นำรายชื่อบุคคลที่ตนสรรหาให้เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่ตนพิจารณาเลือกสรรให้เป็นรัฐมนตรี เทียบเคียงกรณีของอดีตนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน แล้วภายหลังต้องพ้นตำแหน่งไป

สำหรับข้อตกลงการร่วมรัฐบาล เป็นเพียงคำมั่นสัญญาหรือมารยาททางการเมือง ระหว่างพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนการตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินและกิจการของรัฐบาล แต่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายที่จะลงโทษ หากพรรคหรือสมาชิกของพรรคนั้นไม่ปฏิบัติตาม ดังเช่นที่เกิดกรณี ส.ส. ของพรรคร่วมรัฐบาลอาจไม่ลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรคร่วมพรรคอื่น สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำได้คือการพิจารณาว่าจะให้พรรคนั้นร่วมรัฐบาลต่อหรือหาพรรคอื่นมาร่วมแทน ตลอดจนไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องร่วมรัฐบาลทั้งพรรค ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจพิจารณาคัดสรรบุคคลเพียงบางคนที่เห็นว่าเหมาะสมมาร่วมรัฐบาลก็ได้ ส่วนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดที่ไม่พอใจก็มีสิทธิเพียงที่จะไม่ลงมติสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น

ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 15 บัญญัติว่าพรรคการเมืองต้องมีข้อบังคับที่มีรายการ ดังต่อไปนี้ (13) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวางนั้น เป็นข้อบังคับของพรรคการเมืองที่มีผลบังคับเฉพาะพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคนั้นเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองนั้นว่าจะมีมติอย่างไร
ดังนั้น การเลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีจะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีตามที่พรรคการเมืองเสนอมา เนื่องจากพรรคการเมืองนั้นไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเสนอชื่อ แต่ในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่ตนนำขึ้นทูลเกล้าตามกฎหมาย ซึ่งการที่บางพรรคการเมืองทำหนังสือโดยเปิดเผยเป็นทำนองให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลตามที่พรรคการเมืองนั้นเสนอชื่อ จึงไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ การที่นายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามจึงไม่ผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมแต่อย่างใดตามที่กล่าวอ้างเช่นกัน ส่วนการที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองนั้นทำจะผิดมารยาททางการเมืองหรือไม่ ก็ให้เป็นดุลพินิจของแต่ละฝ่ายเป็นผู้พิจารณา