เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่รัฐสภา นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ภายหลังนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อนายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ เพื่อให้ สว.พิจารณา ตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น

โดยนายเทวฤทธิ์ ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.วิสามัญตรวจสอบฯ  ถึงข้อมูลความผิดปกติของกระบวนการสรรหาประธานศาลปกครองสูงสุดที่ผ่านมา เพราะกระบวนการสรรหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นผลมาจากมติของ สว. ชุดพิเศษ 250 คน ที่เร่งรีบทิ้งทวนเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หรือ 1 เดือนก่อน สว.ชุดดังกล่าวจะหมดวาระลง เป็นการลงมติที่ไม่เห็นชอบให้นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่ ก.ศป.มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้คัดเลือกนายวิษณุ ที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดหลังดำรงตำแหน่งรองประธานตั้งแต่ 19 ม.ค. 2560 

นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการสรรหาและการไม่เห็นชอบนายวิษณุ เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดของวุฒิสภาชุดที่แล้ว มีความผิดปกติที่พึงพิจารณา เนื่องจากเป็นการเร่งรีบ ก่อน สว.ชุดพิเศษดังกล่าวจะหมดวาระ และเมื่อพิจารณาตามกรอบเวลาเดิมก็จะต้องเป็น สว. ชุดใหม่พิจาณาในช่วงคือ ส.ค.-ก.ย.67 ซึ่งเป็นไปตามตารางเทียบกระบวนการสรรหา และเห็นชอบ 3 แคนดิเดตประธานเทียบ

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติที่สาธารณชนมองเห็นได้ชัด ผู้พบเห็นก็อาจมีความสงสัยในใจไม่ได้ว่ามีอำนาจอะไรเข้ามาแทรกแซงเร่งรีบเพื่อให้แคนดิเดตประธานศาลปกครองสูงสุดถูกตีตกทิ้งทวน สว.ชุดพิเศษนั้น การเดินหน้าให้ความผิดปกตินี้ดำรงอยู่อาจยังผลต่อกระบวนการยุติธรรมต่อจากนี้ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการที่เผชิญหน้ากับวิกฤตความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่ด้วย” นายเทวฤทธิ์ กล่าว

นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า หวังว่า กมธ.วิสามัญตรวจสอบดังกล่าว จะพิจารณาถึงความผิดปกติในกระบวนการนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ต้องเผชิญกับกระบวนการไม่ปกติ และยังให้โอกาส สว.ได้ใช้ดุลพินิจเห็นชอบจากกระบวนการที่ปกติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ไม่รับมรดกที่ไม่ปกติจาก สว.ชุดที่แล้ว ที่ขาดเสียไม่ได้การให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ปกติและชอบธรรมยังเป็นการช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ.