รศ.ดร.จุฬาลักษณ์ ค้าไม้ นายมานัส แดงชาติ นายณัฐวุฒิ ประสาททอง พร้อมด้วยทีมงาน สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์ (MAE) บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) ได้ให้ความอนุเคราะห์ทางด้านวิชาการ และสนับสนุนอุปกรณ์การทดสอบสำหรับโครงการวิจัย Muay Thai Head Guard Protection for Youth ให้แก่ กองทุน Playing Forward โดยมี นายภูมิกาญจ แต่ดุลยสาธิต เป็นผู้ก่อตั้งได้กล่าวว่า “ผมในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานกองทุน Playing Forward ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนความฝันให้เด็กนักกีฬาที่ได้รับการบาดเจ็บรุนแรงให้กลับมาเล่นกีฬาได้อีกครั้งหนึ่ง ได้มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือนักกีฬาเด็กที่บาดเจ็บจึงได้รับรู้ถึงปัญหาในเชิงลึกของนักกีฬามวยไทยเด็ก สมองของเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออนาคตในระยะยาว 

ในปัจจุบันมวยไทยเป็น soft power ของประเทศไทยยังเป็นที่นิยมของชาวโลกในทุกวัยรวมถึงเด็กๆ ทั่วโลก ซึ่งสนใจเข้ามาฝึกฝนกีฬามวยไทย ผมจึงมีแรงบันดาลใจที่จะลดผลกระทบต่อสมองแก่เด็กไทยและเด็กทั่วโลกที่ฝึกฝนกีฬานี้ โดยใช้โครงการวิจัยนี้ยกระดับเพื่อการพัฒนาหมวกป้องกัน (Head Guard) ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต เป้าหมายของผมคือการพัฒนาและยกระดับอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งจะเน้นเรื่องการหมุนของสมองอันเป็น ผลกระทบจากการแข่งขันกีฬามวยไทย ซึ่งในปัจจุบันไม่มีอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์นี้ การวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้โดยได้รับการสนับสนุนจาก มหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน (TGGS) ที่มีทีมงานที่ยอดเยี่ยมและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยในการสนับสนุนงานวิจัยนี้ครับ” นายภูมิกาญจ แต่ดุลยสาธิต กล่าว.

รศ.ดร. จุฬาลักษณ์ ค้าไม้ เปิดเผยว่า “โครงการวิจัยนี้มีที่มาจากข้อมูลกีฬามวยไทยที่มีเด็กอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป เข้าแข่งขันเป็นจำนวนมากถึง 200,000 – 300,000 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงจากการกระทบกระเทือนทางสมองในระยะยาว นายภูมิกาญจ เล็งเห็นว่า ในการแข่งขันกีฬามวยไทยในเด็กควรจะมีอุปกรณ์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสมอง จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว และได้ขอความอนุเคราะห์จาก มจพ. ในการสนับสนุนบุคลากรทางวิชาการและอุปกรณ์เฉพาะสำหรับการทำวิจัย โดยในวันนี้ได้ทำการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลความเร็วของหมัดและความเร่งของศีรษะในหุ่นทดสอบ Hybrid III ที่ได้รับการต่อยโดยนักมวยเด็กในลักษณะต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาปรับปรุงอุปกรณ์ Head Guard protection สำหรับนักมวยเด็ก และกำหนดการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บศีรษะต่อไป ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในกีฬามวยไทยสำหรับเยาวชนต่อไป” รศ.ดร.จุฬาลักษณ์ ค้าไม้ กล่าวปิดท้าย. จัดทดสอบ ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) เมื่อวันก่อน