นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยในงาน 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล ว่า สมาคมฯ ได้ขอความชัดเจนไปยังรัฐบาล และ กสทช.ในเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล จะหมดอายุลงในปี 72 ว่าจะมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร ในการจัดสรรใบอนุญาต ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมคนดู เม็ดเงินโฆษณา เพราะเหลือเวลาอีก 4-5 ปีเท่านั้น ซึ่งอย่างน้อยควรจะมีความชัดเจนเพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เตรียมตัวกัน ไม่ว่าจะจัดประมูลใบอนุญาตต่อ หรือจะจัดสรรใบอนุญาตด้วยวีธีใดที่ไม่ใช่การประมูล เป็นต้น
“ที่ผ่านมาการประมูลใบอนุญาตของผู้ประกอบการเมื่อ 10 ปีก่อน ท่ามกลางความหวังจนมีเงินเข้ารัฐกว่า 5 หมื่นล้าน และทาง กสทช.มีการแจกกล่องเซต ท็อป บ็อกซ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับชม แต่กลับพบว่ามีประชาชนเข้าถึงผ่านกล่องได้ 10% เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลง จนทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้ยากขึ้น ต้องมีการเยียวยาในการยกเลิกจ่ายค่าใบอนุญาตงวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่ายออกอากาศ และก็ยังต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผลประกอบการไม่ได้เป็นไปดังคาดหวังล้วนเจ็บตัวกันหลายราย”
นายสุภาพ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการมีการคุยกันในสมาคมฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าเมื่อใบอนุญาตหมดอายุ คงไม่มีผู้ประกอบการสนใจเขาร่วมประมูลมากเหมือนครั้งก่อน เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม หรือช่องทางที่หลากหลายในการนำคอนเทนต์ออกอากาศมากขึ้น การประมูลใบอนุญาตในราคาที่แพง คงไม่สามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ เพราะการนำคอนเทนต์ออกบางช่องทางในปัจจุบันไม่ต้องมีใบอนุญาตและมีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้ต้องประมูล หากไม่ประมูลจะใช้วิธีต่อใบอนุญาต ต้องมีการแก้กฎหมายและต้องใช้เวลา ซึ่งสมาคมฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาล และ กสทช.ในหาทางออกที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประเทศชาติ ประชาชน และเอกชน เพื่อให้ทีวีดิจิทัลสามารถอยู่รอดได้ในฐานะแพลตฟอร์มฟรีทีวีของชาติที่ต้องมีอยู่ต่อไป
ด้าน นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า กสทช.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับ สมาคมฯ ในการหาทางออกว่าธุรกิจทีวีเป็นอย่างไรต่อไป หากจะไม่มีการประมูล ต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่ง สมาคมฯ และ กสทช. ต้องหารือกับรัฐบาล ซึ่งหากเห็นว่าควรแก้ รัฐบาลก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่สภา เพื่อดำเนินการ ซึ่ง กสทช.คงไม่สามารถดำเนินการได้ฝ่ายเดียว เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ต้องอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลด้วย.