เมื่อวันที่ 28 ส.ค. จากกรณีมีผู้ป่วยจากอาการเป็นพิษจากเมทานอล หลังดื่มสุราดองในพื้นที่ย่านคลองสามวา โดยตัวเลขผู้ป่วยซุ้มยาดองเถื่อนโดยปัจจุบัน รวม 37 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย และอาการน่าห่วงอีกหลายราย ขณะที่กรมสรรพสามิตตรวจสอบต้นตอโรงงานผลิตพบลักลอบผสมเมทานอล สั่งปิด 18 ซุ้มยาดอง เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยสะสมที่ได้รับสารพิษเมทานอลจากการดื่มสุราเถื่อน ล่าสุดเช้านี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย โดยเสียชีวิตที่รพ.นวมินทร์9 1 ราย และเสียชีวิตที่บ้านพักโดยไม่ได้มารับการรักษา 1 ราย ส่วนระดับความรุนแรง มีผู้ป่วยได้รับการฟอกไต 23 ราย (เพิ่มมา 2 ราย) ได้รับการปั๊มหัวใจ 6 ราย (คงเดิม) และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 37 ราย (เพิ่มมา 4 ราย) โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 22 ราย แบ่งพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 11 ราย, รพ.นวมินทร์9 6 ราย, รพ.สิรินธร รพ.เกษมราษฎร์ รามคำแหง รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิธี และรพ.เวชการุณย์รัศมี ที่ละ 1 ราย

นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกันมาจาก 5 ซุ้มใหม่ ที่ขายเหล้าเถื่อนคือ (ตลาดนิคมลาดกระบัง 2 ซุ้ม, สุวินทวงศ์, ตลาดมารวย และย่านรามอินทรา 44 ที่ละ 1 ซุ้ม) จึงต้องไล่ย้อนไปว่ารับเหล้าเถื่อนมาจากที่ใด และต้องสอบสวนทาง “เจ๊ปู” ผู้ผสมยาดองกับผู้ต้องหาอีก 2 คน คือนายสุรศักดิ์ หรือ เอส อายุ46 ปี และนายสุรชัย หรือ อาร์ท อายุ44 ปี ว่าได้มีการส่งไปที่ซุ้มอื่นอีกหรือไม่

ด้าน พญ.มินตรา ตั้งรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วย ผอ.ด้านการพัฒนาคุณภาพ ระบุเพิ่มเติมว่า ที่ รพ.นพรัตน์ฯ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 ราย ที่มีอาการหนัก โดยคนแรกมีอาการหนักตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา มีอาการเหนื่อยหอบรุนแรง จึงมีการใส่ท่อช่วยหายใจ และล้างไต อีกรายรับมาใหม่เมื่อคืนมีการฟอกไตเหมือนกัน จึงฝากเตือนไปยังประชาชนที่ยังมีการรับประทานเหล้าเถื่อนอยู่ในปัจจุบันว่าให้เลิกก่อน เพราะไม่รู้ว่าตอนนี้สารพิษต่าง ๆ ที่เจอ กระจายไปกี่ที่ในกรุงเทพฯ และถ้าหากมีอาการอยากให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที หากรับการรักษาช้า ฤทธิ์ของสารพิษอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสำหรับ 9 รายที่รักษาหาย เกิดจากผู้ป่วยเองมาโรงพยาบาลและตรวจเช็กอาการเร็วและได้รับการรักษาเร็วจึงสามารถรักษาได้ทัน

ขณะที่นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า จากการนำเลือดของผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปตรวจ พบว่ามีสารทั้ง 3 ชนิด 1. IPA (ไอโซไพพิลแอลกอฮอล์) เป็นสารที่รับประทานไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อไต กับ เส้นประสาททำงานผิดปกติ 2. เอทานอล 3. เมทานอล ซึ่งอาการที่ออกฤทธิ์ส่วนใหญ่เป็น เมทานอล เป็นหลัก เพราะมีความรุนแรงที่สุด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่มาตรวจยังไม่สามารถระบุอาการชัดเจนได้ เนื่องจากอาการแตกต่างจากการเมาแอลกอฮอล์ปกติจึงต้องมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารเมทานอล