การตั้ง ครม. “อิ๊งค์ 1” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดูจะยังมีปัญหาอยู่ตรงที่จะเอาพลังประชารัฐ ( พปชร.) ออก เนื่องจากความแตกแยกในพรรค ซึ่งอาจให้โควตารัฐมนตรีคนนอก และรัฐบาลอาจดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแทน

มีการวางไทม์ไลน์เพื่อตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด นายกฯ จะพิจารณาแต่งตั้ง รมต. และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมฯ ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2567 เมื่อมีการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกฯ จะนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นคาดว่าวันที่ 5 ก.ย. 2567 จะมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ เพื่อเสนอร่างนโยบาย

วันที่ 6 ก.ย. 2567 จะมีการส่งเล่มคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภารับทราบ คาดว่า ครม.แพทองธาร1 จะแถลงนโยบายต่อสภา ในวันที่ 11 ก.ย. 2567 ซึ่งครม.จะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน และคาดการณ์ว่าในวันที่ 17 ก.ย. 2567 จะเป็นการประชุมครม. หรือ ครม.แพทองธาร 1 นัดแรก เป็นการเริ่มต้นงานรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ไทม์ไลน์ ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยับวันตามสถานการณ์การเมือง

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ ขอให้รอสักหน่อย การตรวจสอบคุณสมบัติมีหลายขั้นตอน เห็นว่ามีหลายพรรคยังติดขัด เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน และยอมรับว่า ในส่วนพรรคเพื่อไทยมีการส่งรัฐมนตรีเกินจำนวนเพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติ และบอกว่า ขณะนี้ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท ในเครือชินวัตรจริง ไม่แน่ใจว่าลาออกไปกี่บริษัท โดยมีรายงานข่าวว่า น.ส.แพทองธารได้ลาออกจากกรรมการบริษัทอัลไพน์แอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. ซึ่งเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์เป็นเรื่องที่ถูกจับตาว่าจะนำมาใช้ยื่นตรวจสอบนายกฯ เพราะตัวสนามกอล์ฟยังมีปัญหาเรื่องความเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่

สำหรับเรื่องการส่งชื่อรัฐมนตรีของพรรค พปชร. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ โยนให้เป็นเรื่องของพรรคไปแล้ว สำหรับในพรรคก็อยู่กันอย่างนี้ เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตนมีมารยาท ไม่ก้าวล่วงใคร แต่ถ้าใครก้าวล่วงก็สวนกลับ ตนอยู่การเมืองจนอิ่มตัว คือเบื่อแล้ว

มีรายงานข่าวว่า การตั้ง ครม.มีการขยับแทบทุกชั่วโมง ทางแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมองว่า หากนำพรรค พปชร. ในส่วนของ ร.อ.ธรรมนัส มาแค่กลุ่มเดียว ก็จะทำให้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตได้ จึงตัดโควตาของ พปชร.ทั้ง 4 คน ที่เป็นรัฐมนตรีสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน ออกทั้งหมด ตัดกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ใช้โควตาคนนอก คือ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม มานั่งเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์

ส่วน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อเวลา 15.00 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า อาจเป็นนายอิทธิ ศิริลัทธยากร อดีต รมช.คมนาคม บิดาของนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน โดยนายอิทธิได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร.ก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้ว และได้กรอกใบคุณสมบัติรัฐมนตรีแล้ว

ต้องจับตาว่า พรรค พปชร.จะมีมติขับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสออกหรือไม่ ขณะที่ในการประชุม สส.เพื่อไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า มี สส.หลายคน ที่มีความไม่สบายใจถึงพฤติกรรมของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรคร่วมรายหนึ่งที่ไม่มาโหวตเลือกนายกฯ และสื่อมวลชนทราบดีว่าใครอยู่เบื้องหลังยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ซึ่งต้องเอาเรื่องนี้มาคุยกันใน กก.บห.พรรคว่าจะไม่เอาพรรคนั้นมาร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่ ..แม้นายสรวงศ์ไม่บอกชื่อ ก็รู้ว่า พปชร.

นายสรวงศ์ ยังยอมรับว่า จะเชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล และหาเสียงพรรคเล็กเพิ่มเติมเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล อาจดึง สส.ไทยสร้างไทย ( ทสท.) 6 คนมาด้วย แต่เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเรื่องของนายกฯ การพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องพยายามประนีประนอมให้มากที่สุดและราบรื่นที่สุด ซึ่งต้องทำให้เสียงรัฐบาลไม่ต่ำว่า 300 เสียง

และต่อมา มติที่ประชุม กก.บห.พรรคเพื่อไทย ก็ชัดเจนว่า “ไม่เอา พปชร.ร่วมรัฐบาล” จะเชิญประชาธิปัตย์ และอาจเชิญกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสเข้ามา เพราะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยด้วยดีมาโดยตลอด

ขณะที่นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า จะรักษาจุดยืนเดิมที่คัดค้านการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคระบุว่าที่ประชุม กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้นายเฉลิมชัยไปเจรจากับแกนนำพรรคเพื่อไทยในการเข้าร่วมรัฐบาล ว่า อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะยังไม่ได้รับมอบหมาย และย้ำว่า การร่วมรัฐบาลต้องผ่านกระบวนการของพรรค คือเป็นเสียงกรรมการบริหาร ต้องมีหนังสือเชิญเป็นทางการ

ขณะที่ถ้าดันพรรค พปชร.ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลจริง พปชร.ก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หากอนาคตพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้มีปัญหาใด ๆ แต่หากเกิดเหตุการณ์พรรค พปชร.ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถนับเป็นพรรคร่วมร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ พรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นพรรคที่ไม่ถูกเชิญไปร่วมรัฐบาล ดังนั้น ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะต้องเห็นตรงกัน ยกเว้น การขอมติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จำเป็นต้องใช้มติของวิปฝ่ายค้าน

สส.เอิร์ธ ปกรณ์วุฒิ ยังบอกด้วยว่า ได้พูดคุยกับวิปทั้ง 3 ฝ่ายไปแล้วเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะเป็นช่วงประมาณปลายเดือนกันยายนที่จะนัดประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลส่งสัญญาณให้แก้กฎหมายเรื่องการยุบพรรค รวมถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง จากปัญหาการถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี สส. ในสภาก็เห็นมีความเห็นร่วมกัน คือ หลักการประชาธิปไตย พรรคควรตั้งง่ายและยุบยาก เชื่อว่า สว.ชุดใหม่น่าจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น แต่ยังไม่เคยได้ร่วมงานหรือประชุมร่วมด้วยกัน ก็อาจจะประเมินได้ยาก แต่หากประเมินโดยทั่วไปนั้น ง่ายกว่าชุดที่แล้วแน่นอน

มีรายงานว่า ที่ประชุม กกต.มีมติสั่งให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ดำเนินการใหม่ เป็นไปตามมาตรา 106 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 โดยที่ประชุม กกต.เห็นว่า หลังพิจารณาเรื่องการประกาศรับรองผล และพยานหลักฐานของสำนวนเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 65 (3) กรณีกล่าวหาว่านายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ได้รับเลือกตั้ง จัดเลี้ยงและมหรสพเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ตนนั้น มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย 2567 มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

สำหรับมติสั่งเลือกตั้งใหม่ของ กกต. ดังกล่าวเป็นการให้ “ใบเหลือง” ดังนั้นนายชาญ ยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ได้ใหม่อยู่ ส่วนวันเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของ ผอ.กกต.จะเป็นผู้ประกาศ

การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย 2567 เป็นการแข่งขันกันระหว่างนายชาญ พวงเพ็ชร์ จากค่ายเพื่อไทย และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ลงในนามอิสระ ซึ่งนายชาญชนะไปในหลักพันต้นๆ เรื่องนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กก.บห. ต้องรับผิดชอบว่าจะเลือกใหม่ ส่งคนใหม่ ส่งคนเก่าอย่างไรก็แล้วแต่ โดยใช้ศักยภาพ ความสามารถเก็บข้อมูล ตัดสินใจโดยจะทำให้ดีที่สุด.