เมื่อวันที่ 27 ส.ค. พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการคัดเลือกแบบเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ทดแทน ว่า หลังจากสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้ผลิตเครื่องบิน F16 block70/72 และบริษัท SAAB สวีเดน ประเทศผู้ผลิตเครื่องบิน Gripen E/F ได้ส่งเอกสารข้อเสนอมาให้กองทัพอากาศไทย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกแบบที่มี พล.ท.วชิระพล เมืองน้อย เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศเป็นประธาน ได้สรุปข้อมูลทั้งหมดและจะตัดสินเลือกแบบเครื่องบินใน 1-2 วันนี้ โดยกองทัพอากาศจะจัดทำเป็นเอกสารข่าวชี้แจงรายละเอียดเปรียบเทียบข้อมูล ที่สองค่ายได้นำเสนอมา ทั้งในส่วนคุณลักษณะของเครื่องบิน ข้อเสนอในเรื่องการชดเชยโดยอ้อม (Indirect Offset) หรือการชดเชยทางเศรษฐกิจ (Offset/a robust industrial participation proposal) เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นข้อมูลเปรียบเทียบว่าทั้งสองค่ายได้เสนออะไรบ้าง จากนั้นจะนำเรียนผู้บังคับบัญชาต่อไป  

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการตัดสินใจคัดเลือกแบบเครื่องบินครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพอากาศ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อความมั่นคงของประเทศชาติในภารกิจป้องกันอธิปไตย รวมทั้งมีความคุ้มค่าด้านงบประมาณและผลตอบแทนที่ได้คืนกลับมาจากนโยบายรัฐบาลในเรื่องการตอบแทนการค้า (Offset Policy) ซึ่งต้องขอขอบคุณที่รัฐบาลได้มอบนโยบายนี้มาทำให้การเจรจาเพื่อรับข้อเสนอของประเทศผู้ผลิตมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งมากกว่ามูลค่าของตัวโครงการด้วยซ้ำ และผลจากการคัดเลือกครั้งนี้ จะมีความต่อเนื่องในเรื่ององค์ความรู้ การถ่ายเทคโนโลยี ในระบบควบคุมบังคับบัญชา สนับสนุนภารกิจของกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจช่วยเหลือประชาชน และบรรเทาสาธารณภัย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการคัดเลือกแบบได้สรุปข้อเสนอของ 2 ค่ายผู้ผลิต โดยลงรายละเอียดในเรื่องการชดเชยผลประโยชน์ตอบแทนกลับมายังประเทศผู้ซื้อผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยาน อวกาศ และการป้องกันประเทศรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่สร้างความฮือฮาด้วยการเสนอให้ Link16 ในการอัปเกรด F16 ฝูงบิน 403 จำนวน 18 เครื่อง ขณะที่ บริษัท SAAB สวีเดน ผู้ผลิต Gripen ได้ให้ลิขสิทธิ์ LinkT การถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกศึกษาบุคลากรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดในเรื่องระบบดังกล่าว การให้เปล่าจรวดนำวิถีอากาศ สู่ อากาศ Meteor จำนวนหนึ่ง ซึ่งในแวดวงอาวุธมองว่า เป็นตัวเปลี่ยนโฉมเกมการต่อสู้ทางอากาศในระยะไกลกว่าสายตา ที่สำคัญคือมูลค่าการชดเชยทางเศรษฐกิจที่มากกว่ามูลค่าของทั้งโครงการ ซึ่งมีแนวโน้มว่ากองทัพอากาศจะเลือก Gripen ด้วยข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี้.