จากสถานการณ์อุทกภัยทางภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ส่งผลให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54
“เดลินิวส์” ได้รวบรวมข้อมูลปัจจัยความเสี่ยง ปริมาณฝน และการรองรับน้ำของเขื่อนหลัก ระหว่างปี 54 กับปัจจุบันปี 67 ว่ามีแนวโน้มเสี่ยงซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่หรือไม่
เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้ม “ความเสี่ยงอุทกภัย” ช่วงปี 54 กับ ปี 67 การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย นั้น
ปี 54 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก ไห่หม่า เดือน มิ.ย., นกเตน เดือน ก.ค., ไห่ถาง เดือน ก.ย., เนสาด เดือน ต.ค. และ นาลแก ปลาย ต.ค.
ปี 67 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือน ก.ย. หรือ ต.ค.
เมื่อเปรียบเทียบ “ปริมาณฝนสะสม” พบว่า ปี 54 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในคาบ 61 ปี (นับจาก พ.ศ. 2494) ในปี 67 ณ เดือน ส.ค.นี้ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทย ยังคงต่ำว่าค่าปกติ 4% และต่ำกว่า ปี 54
เปรียบเทียบศักยภาพในการ “รองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก” ณ วันที่ 24 ส.ค. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 54 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปี 67 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อดูที่ “ปริมาณน้ำท่า” ณ วันที่ 24 ส.ค. พบว่า ปี 54 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,832 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,726 ลบ.ม./วิ) ในปี 67 ปริมาณน้ำท่ายังคงอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามแผน กล่าวคือ ที่สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 837 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าจะสูงสุด 2,860 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 499 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าสูงสุด 2,700 ลบ.ม./วินาที)
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า ในวันที่ 27 ส.ค. ปริมาณน้ำที่สุโขทัยจะมากที่สุด คือ จุดสถานี Y14A อ.ศรีสัชนาลัย ก่อนที่จะมาถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ดังนั้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์จะระบายไปทางคลองยมน่านเป็นหลัก และก่อนหน้านี้ได้มีการรื้อทางรถไฟที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อที่จะระบายได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งเพียงพอ อีกส่วนจะระบายในคลองในแม่น้ำยมเก่าซึ่งจะระบายได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เหลือจะระบายในส่วนของท้ายหาดสะพานจันทร์ ซึ่งขณะนี้ตัวเมืองสุโขทัยระบายได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจมีน้ำล้นพนังกั้นน้ำบ้างเล็กน้อย แต่พี่น้องประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้ช่วยกันเสริมกระสอบทรายจึงเป็นลักษณะน้ำล้นในระดับหนึ่ง แต่ก็มีเครื่องสูบน้ำที่จะสูบออก เพื่อบริหารจัดการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองสุโขทัย
นายสุรสีห์ กล่าวว่า หลังจากนี้น้ำจะมาทาง จ.พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ จึงจะมีการเร่งระบายน้ำลงในแม่น้ำน่านเพื่อให้น้ำในทุ่งน้อยลง เนื่องจากมีการประเมินว่าในเดือน ก.ย. มีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมากเข้ามาอีก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ส่วนเดิมๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่แล้ว และหลังจากนี้น้ำจะมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้การระบายน้ำเจ้าพระยาจะอยู่ที่อัตรา 700-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น จะไม่ส่งผลกระทบตามที่เป็นข่าวว่าจะเหมือนปี 2554 เพราะปี 2554 น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มาในครั้งนี้ต่างจากปี 2554 โดยสิ้นเชิง.