“เมื่อทุกช่วงเวลาในชีวิตของคุณ รู้สึกเหมือนมีคนมาหลอกขายของ และราคาของสิ่งของชิ้นนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนจะหมดไฟในการใช้จ่ายเงิน” น.ส.คารา เปเรซ อินฟลูเอนเซอร์ และนักการศึกษาด้านการเงิน กล่าว

แม้สื่อสังคมออนไลน์ มีพื้นที่สำหรับนำเสนอบ้านที่สมบูรณ์แบบ, ตู้เสื้อผ้าสุดหรู และผลิตภัณฑ์เสริมความงามจำนวนมาก มาเป็นเวลานาน แต่เทรนด์ใหม่กำลังมุ่งไปในทิศทางตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นให้เกิดการใช้ซ้ำ, การใช้ชีวิตที่ประหยัดมากขึ้น และการให้ความสำคัญกับคุณภาพ มากกว่าปริมาณ

เทรนด์ใหม่นี้เรียกว่า “underconsumption core” หมายถึงการซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น, ลดการชอปปิง, ใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน นับเป็น  กระแสพลิกกลับจากความฟุ่มเฟือยและความมั่งคั่ง ที่ครอบงำแพลตฟอร์มอย่างอินสตาแกรม และติ๊กต็อก ซึ่งเต็มไปด้วยโฆษณา

“เมื่อคุณดูคลิปวิดีโอ 300 คลิปบนติ๊กต็อก เกี่ยวกับคนที่มีแก้วเก็บอุณหภูมิแบรนด์ ‘สแตนลีย์’ (Stanley) 30 ใบ คุณก็อยากมีแก้วแบบนี้ ในจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะซื้อได้ เพราะผู้คนต้องการมีส่วนร่วม และตามทันกระแส” เปเรซ กล่าวเพิ่มเติม

คลิปวิดีโอหนึ่งจาก ผู้ใช้งานติ๊กต็อกที่มีชื่อว่า “loveofearthco” ซึ่งมียอดชมมากกว่า 100,000 ครั้ง วิพากษ์วิจารณ์แนวโน้มการบริโภคมากเกินไป ซึ่งมักถูกกระตุ้น และได้รับการส่งเสริมบนสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้เกิดปัญหาและความลำบากใจตามมา เช่น การใช้เงินซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น

ด้านผู้ใช้งานอีกรายหนึ่ง ชื่อ “nevadahuvenaars” แชร์ความคิดเห็นว่า “การบริโภคที่ปกติ” มีลักษณะเป็นอย่างไร ทั้งเฟอร์นิเจอร์มือสอง, ตู้เสื้อผ้าในขนาดที่เหมาะสม, ของตกแต่งจากขวดแก้วที่ใช้แล้ว, การเตรียมอาหาร และการลดขนาดของคอลเลกชันผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่ประสบปัญหาทางการเงิน แต่เศรษฐกิจของสหรัฐกลับเฟื่องฟู ซึ่งนางทาริโร มาโคนี นักวิเคราะห์ด้านวัฒนธรรมและการตลาดผู้บริโภค กล่าวว่า ลักษณะเช่นนี้ทำให้บรรดาผู้บริโภค “สับสน” ท่ามกลางช่วงเวลาของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์

 การวิเคราะห์ของ “กูเกิล เทรนด์ส” เผยให้เห็นว่า การค้นหาคำว่า “underconsumption” ในสหรัฐ พุ่งสูงในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ควบคู่กับการค้นหาคำว่า “overproduction” ซึ่งหมายถึง การผลิตมากเกินไป และ “Great Depression” หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

อนึ่ง ผลการสำรวจในปีนี้ของ “แบงก์ ออฟ อเมริกา” แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่เจนแซด ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-27 ปี กล่าวว่า ค่าครองชีพสูง เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จทางการเงินของพวกเขา และหลายคนไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการได้

“กระแสการใช้ชีวิตแบบประหยัด บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนกลุ่มเจนแซด สามารถใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน” นางแอชลีย์ รอสส์ หัวหน้าฝ่ายประสบการณ์ลูกค้าผู้บริโภคและการกำกับดูแล ของแบงก์ ออฟ อเมริกา กล่าวทิ้งท้าย.