สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ว่า แผนระยะยาวสำหรับเครือข่ายคมนาคมของเวียดนาม จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและจัดหาเงินทุนสำหรับระบบรางแห่งชาติเป็นอันดับแรก

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจนถึงปี 2573 ซึ่งวางวิสัยทัศน์ไว้จนถึงปี 2593 มีเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากความสามารถของระบบราง ในการขนส่งปริมาณมากด้วยความเร็ว, ปลอดภัย และสะดวกสบาย พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

นายลือ กวาง ถิ่น รองผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนและการลงทุน กระทรวงคมนาคมเวียดนาม กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งของประเทศ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ก็กำลังเสียสมดุลจากการลงทุนที่ให้ความสำคัญแค่การขนส่งทางถนน, ทางทะเล, ทางอากาศ และทางน้ำ

ขณะเดียวกัน โครงการรถไฟในเมืองที่หยุดชะงัก ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองใหญ่ได้อย่างเต็มรูปแบบ

ด้วยปัญหาขาดแคลนเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง กระทรวงคมนาคมจะเน้นไปที่การพัฒนาทางรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ และเร่งความคืบหน้าของโครงการรถไฟ ในกรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและปรับปรุงการเชื่อมต่อ เพื่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารที่สะดวกสบายทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวต้องใช้เงินประมาณ 151,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.1 ล้านล้านบาท) สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟภายในปี 2573 และ 312,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2593

กระทรวงคมนาคมเวียดนามให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า กำหนดเป้าหมายให้เวียดนามมีทางด่วนระยะทางยาว 5,000 กิโลเมตร ภายในปี 2573 โดยเน้นที่เส้นทางที่เชื่อมต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ท่าเรือ, สนามบิน และประตูชายแดนระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้าจำนวนมหาศาล ซึ่งเวียดนามจะต้องใช้งบประมาณ 24,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 842,567 ล้านบาท) ภายในปี 2573 และ 33,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2593 เพื่อพัฒนาระบบถนนทั้งหมด

นอกจกานี้ กระทรวงคมนาคมเวียดนามจะปฏิรูปกฎหมาย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ตอนนี้กำลังจัดทำแผนการเพื่อดึงดูดความร่วมมือเพิ่มเติม ระหว่างภาครัฐกับเอกชน และการลงทุนจากต่างประเทศ ภายในปี 2573.

เครดิตภาพ : AFP