ที่ โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ส.ค.97  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม จ.นครราชสีมา ครั้งที่ 2 โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกอบจ.นครราชสีมา นายพชร จันทรรวงทอง สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารสถาบันการเงิน ให้การต้อนรับ เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาลดภาระพี่น้องเกษตรกร ด้วยการพักหนี้เกษตรกร ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประคองการชำระหนี้สิน และต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชน ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ให้มีโอกาสในการฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง  

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าในพื้นที่ภาคอีสาน มีผู้จบการศึกษาที่เป็นหนี้ที่ยังต้องชำระกว่า 1 ล้านคน ยอดหนี้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท พื้นที่นครราชสีมา มีจำนวนผู้ติดหนี้กยศ.กว่า 1 แสนคน ยอดหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องให้ผู้ที่ยังค้างชำระหนี้กับ กยศ.เข้าร่วมโครงการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดล็อคผู้ค้ำประกันออกไปและจะมีการลดภาระหนี้ให้สามารถมีเงินทุนไปประกอบอาชีพได้  หนี้ กยศ.  เหมือนเป็นกระดุมเม็ดแรกในการแก้ไขกฎหมายให้คลาย รัฐบาลเตรียมมาตรการในการฟื้นฟูบุคคลธรรมดาเนื่องจากพบว่าหลักจากแก้หนี้แล้ว ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จึงมีการเตรียมออกกฏหมายฟื้นฟูลูกหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์จะถูกฟ้องดำเนินคดี หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และรู้สิทธิตามกฎหมาย เข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้ประชาชนเป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

โดยลูกหนี้จะได้รับโปรโมชั่น นอกจากจะไม่ถูกฟ้องคดี ไม่ถูกยึดทรัพย์ ไม่ถูกขายทอดตลาดแล้วจะได้รับสิทธิพิเศษส่วนลดจบหนี้ ส่วนลดดอกเบี้ย ลดค่างวดและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย นอกจาก​นี้ ภายในงานมีการให้บริการต่างๆมายมาย เช่น การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงิน การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทถึง 11 สถาบัน