จากกรณีกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดย นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะลงตรวจสอบพื้นที่ในข้อร้องเรียนดังกล่าว นั้น
สภาทนายฯ ลุยลงพื้นที่ ‘เขาค้อ’ ช่วยเกษตรกรคนจนมีที่ดินอยู่อาศัย-ทำกิน
‘กลุ่มเกษตรกรคนจน’ ร้องสภาทนายความ ไร้ที่ทำกิน กลายเป็นหมู่บ้านที่สูญหาย
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ ถึงขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรคนจน ที่ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องที่ดินทำกินและอยู่อาศัย มายังสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ กล่าวว่า หลังจากที่นายกสภาทนายความได้รับช่วยเหลือแล้ว นายสัญญาภัชระ สามารถ ในฐานะอุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความก็ได้มอบหมายให้ตนและคณะทำงานได้ลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย มีการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น ร่วมกับทีมทนายจากสภาทนายความจังหวัดเพชรบูรณ์ นำโดยนายชัตพงษ์ เสาธง ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานั้นๆ ข้อมูลด้านเอกสาร ประวัติชุมชน ไล่เรียงถึงวันเวลาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน โดยพบว่า กลุ่มชาวบ้านบ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เคยมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่หมู่บ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 9 บ้านป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2504 แต่เมื่อครั้งสงครามคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2525 พบข้อมูลว่าปี พ.ศ. 2518 ได้มีการอพยพชาวบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง และบ้านเล่าลือ ให้ย้ายถิ่นฐานชุมชนกันตามยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ให้มาอยู่รวมกันที่หมู่ 2 ต.แคมป์สน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ (ต่อมา ปี 2527 ได้เปลี่ยนเป็นกิ่งอำเภอเขาค้อ) โดยมีคำมั่นสัญญาจากทหารกองทัพ ภาคที่ 3 ว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลง
คณะอนุกรรมการฯ ยังพบข้อมูลว่า ที่ผ่านมา คณะทำงานของกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา โดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เคยได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มชาวบ้าน และมีข้อเสนอแนะ พอสรุปได้ว่า เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลไทย เขาค้อเคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ การสู้รบและปฏิบัติการทางทหารเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรงและต่อเนื่องร่วม 20 ปี ขณะนั้นกองทัพภาคที่ 3 ได้รับมอบพื้นที่ให้ดูแลเป็นวงกว้าง ประมาณ 300,000 ไร่ มีการอพยพประชาชน ย้ายถิ่นฐานกันตามยุทธศาสตร์ โดยให้คำมั่นว่าเมื่อเหตุการณ์สงบจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ มีหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธ์ม้งดั้งเดิม 3 แห่งที่ถูกอพยพทางยุทธวิธีในครั้งนั้น คือ หมู่บ้านเล่านะ หมู่บ้านเล่าเน้ง และหมู่บ้านเล่าลือ แต่มีเพียงชุมชนบ้านเล่าลือเท่านั้นที่ได้รับการดูแลจัดสรรที่ดินให้อยู่ทำกิน อยู่อาศัยในที่ใหม่ ใกล้กับชาติพันธุ์มูเซอร์ บ้านเพชรดำ ส่วนบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง ประมาณ 150 ครอบครัว กลับยังไม่ได้รับการจัดสรรต้องดิ้นรนหาที่เช่าเพื่ออยู่อาศัยและรับจ้างทำงานกับชาวบ้านด้วยกันในละแวกนั้น ต่อมาเมื่อครบระยะ 30 ปี ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้คืนพื้นที่ให้แก่กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯรับไปดูแล ทำให้ที่ดินหมู่บ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง ซึ่งเป็นที่ทำกิน อยู่อาศัยแต่เดิมของกลุ่มชาวบ้าน บ้านเล่านะ และ เล่าเน้งกลายเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จนเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 มีมติคณะรัฐมนตรี ให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ดำเนินการเพิกถอนสภาพป่า ในส่วนที่อยู่ตามแนวถนนสายหลักที่พาดผ่านพื้นที่เป็นระยะความกว้าง 1 กิโลเมตร ทั้งสองฟากทาง และมอบให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลในการให้ประชาชนเช่าทำประโยชน์ตามระเบียบของทางราชการ ทางจังหวัดจึงเปิดให้กลุ่มชาวมั้งผู้เดือดร้อนมาจดแจ้งความจำนงขอเช่าที่กรมธนารักษ์เอาไว้ก่อน ซึ่งผู้เดือดร้อนได้ไปลงทะเบียนไว้แล้ว
ปัจจุบันการสู้รบสงบลงแล้วกว่า 40 ปี แต่ปรากฏว่าทางกลุ่มหมู่บ้านเล่านะ เล่าเน้ง ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามคำมั่นสัญญา ยังคงต้องเช่าที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเรื่อยมา ส่วนพื้นที่ดั้งเดิมก็ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้
ทางคณะอนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ผลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น หากได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดว่า กลุ่มชาวบ้านดังกล่าว อยู่อาศัยทำกินมาก่อน ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็คงต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฏหมาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ที่ทับพื้นที่ทำกินชาวบ้านเดิมที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน ประกอบกับมีข้อมูลชัดเจนว่ากองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการเคยให้คำมั่นสัญญากับกลุ่มชาวบ้าน บ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง ที่ถูกอพยพทางยุทธวิธีในครั้งนั้นว่า เมื่อเหตุการณ์สงบจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็คงต้องดูในข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายให้ชัดเจน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน รอบคอบ ประมาณ 1 เดือน หากได้ข้อเท็จจริงก็จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป.