เมื่อวันที่ 24 ส.ค.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อการจัดการน้ำป่า-น้ำอิง-น้ำโขง ต่อปัญหาน้ำท่วมในจ.เชียงราย ว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายที่ อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล และ อ.เทิง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะของปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกรุนแรงในเวลาเดียวกัน ซึ่งปริมาณน้ำฝนในช่วง 3 วัน 21-23 ส.ค. แต่ละจุดสูงถึงประมาณ 200 มล. ประกอบกับการระบายน้ำของเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำโขง เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน จาก 1,375 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในวันที่ 19 ส.ค. เป็น 2,205 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในวันที่ 23 ส.ค.ทำให้การระบายน้ำในลุ่มน้ำอิง และลุ่มน้ำงาว ทำได้ยากขึ้น

นายณัฐพงษ์ ระบต่อว่า ที่ อ.เวียงแก่น เป็นน้ำป่าไหลหลาก ช่วงเวลาที่ผมไปถึงน้ำผ่านไปแล้ว เหลือไว้แต่เพียงเศษซากและขี้โคลนที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จากหลายเทศบาลในบริเวณนั้นมาช่วยกันทำความสะอาด วิธีการป้องกันเหตุภัยพิบัติจากน้ำป่า นอกเหนือจากการไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อรักษาสภาพป่าให้สมบูรณ์แล้ว ระบบโทรมาตรวัดน้ำฝนบนพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นป่าเขา ก็เป็นส่วนสำคัญในการแจ้งเตือนภัยก่อนที่น้ำจะหลากมาถึงบ้านเรือนประชาชน

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า พื้นที่ในบริเวณนั้นยังขาดสถานีโทรมาตรวัดน้ำฝนที่ทั่วถึง (ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจวัดเอง เลยมักจะตั้งในที่ราบ) ซึ่งนอกเหนือจากระบบการแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast ที่มีการตั้งงบประมาณเข้ามาในปี 67 แล้ว การจัดสรรงบประมาณเพื่อตั้งสถานีมาตรวัดน้ำฝนบนพื้นที่ป่าเขาก็มีส่วนสำคัญ ที่พวกเราต้องเข้าไปผลักดันร่วมกันต่อไปครับ

นายณัฐพงษ์ ระบุต่อว่า ส่วนที่ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง มีลักษณะของปัญหาอีกแบบหนึ่ง เป็นปัญหาเชิงระบบการจัดการลุ่มน้ำโขง ที่เกี่ยวพันกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แผนพลังงานแห่งชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว) ที่ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง สถานการณ์น้ำท่วม ณ ขณะที่ผมไปยังค่อนข้างวิกฤต เพราะระดับน้ำในน้ำอิงยังล้นเอ่อ และไหลท่วมรุนแรง

น้ำอิงเป็นน้ำที่ไหลมาจากใต้-ขึ้น-เหนือ จากพะเยา-ผ่านเชียงราย-ออกแม่โขง สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีฝนตกหนัก น้ำอิงจากพะเยา (ต้นน้ำ) ก็สูง ระดับน้ำในแม่โขง (ปลายน้ำ) ก็สูง ทำให้ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง ที่อยู่กลางน้ำเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในระดับวิกฤตในรอบหลายสิบปี ปู่ ย่า ตา ยาย หลายคนที่ผมไปเจอมาเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดมา 70-80 ปี ไม่เคยเห็นปีไหนน้ำท่วมหนักเท่านี้มาก่อน

นายณัฐพงษ์ ระบุต่ออีกว่า เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับวิธีการในการบริหารจัดการลุ่มน้ำในบริเวณนี้ร่วมกัน นอกเหนือจากการขุดลอกคูคลองท้องน้ำให้ลึกเพื่อให้น้ำระบายได้เร็วซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในภาพเล็กแล้ว ผมคิดว่าภาพกลางเช่นการหาพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรศึกษาไว้ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคต

ส่วนภาพใหญ่ที่สุด คือ เรื่องการจัดการลุ่มน้ำโขง ที่พวกเราได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่ต่อข้อห่วงใยในโครงการสร้างเขื่อนปากแบงใน สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ เอกชนได้เซ็นสัญญาการสร้างเขื่อน และแผนการรับซื้อพลังงานไฟฟ้ากลับมายังประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้ายในการฟังความคิดเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นายณัฐพงษ์ ระบุต่อไปว่า แน่นอนที่สุดว่าการสร้างเขื่อน ย่อมสร้างผลกระทบให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนสูงขึ้น ซึ่งในมุมมองของชาวบ้าน ย่อมเกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำท่วมในจ.เชียงรายบริเวณที่ผมไปลงพื้นที่นี้โดยตรง ซึ่งชาวบ้านมีความเป็นห่วงว่าหากเขื่อนปากแบงนี้สร้างเสร็จ อาจส่งผลกระทบให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในบริเวณนี้หนักขึ้นไปอีก โดยเฉพาะ อ.เวียงแก่น ที่ติดกับ สปป.ลาว และเอกชนยังไม่มีการพูดถึงค่าชดเชยจากผลกระทบต่อสายน้ำหลักและสายน้ำรองหลังจากการสร้างเขื่อน

‘เรื่องการสร้างเขื่อนปากแบงนี้ สส.พรรคประชาชน ได้เคยตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นในการสร้าง เพราะไทยสามารถต่อสัมปทานเขื่อน 5-6 แห่งใน สปป.ลาว ที่สัญญากำลังจะหมดลง โดยถ้าต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนเหล่านี้จะมีต้นทุนเพียง 1 – 1.5 บาท/หน่วย ในขณะที่การไฟฟ้าเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในราคา 2.8 – 2.9 บาท/หน่วย’ นายณัฐพงษ์ ระบุ 

หัวหน้าพรรคประชาชน ระบุต่อว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดภาคเหนือในครั้งนี้ ขอให้หน่วยงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เร่งสนับสนุนการทำหน้าที่ช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และเครือข่ายอาสาสมัคร ในพื้นที่ในการเข้าช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูพื้นที่โดยเร่งด่วน นอกเหนือจากนี้แล้ว ผมคิดว่าควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เราควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นวงกว้างต่อการบริหารจัดการน้ำในบริเวณลุ่มน้ำนี้ทั้งระบบ รวมถึงความเหมาะสมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในการสร้างเขื่อนปากแบงด้วย.