เมื่อวันที่ 23 ส.ค. เวลา 09.00 น. ที่สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศบรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมการประชุม และมีผู้แทนจากติมอร์-เลสเต เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซียนเข้าร่วมประชุม
โดยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมถึงอภิปรายประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาในอาเซียน เพราะการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ความผันผวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาของอาเซียน นำมาซึ่งความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน การพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานดิจิทัล การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือการเคลื่อนย้ายระหว่างระดับการศึกษา ซึ่งความร่วมมือจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนในการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา และสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับผู้เรียน เพื่อพัฒนาอนาคตของการศึกษา โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของอาเซียนภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความก้าวหน้าของแผนการศึกษาของอาเซียน ปี 2021-2025 และการจัดทำแผนการศึกษาอาเซียนหลังปี 2025
“ในการประชุมดังกล่าว สปป.ลาวได้นำเสนอผลลัพธ์จากการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยที่นครหลวงเวียงจันทน์ รวมถึงการจัดทำแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาคในการเข้าถึงและสิ่งแวดล้อม : การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวรับกับสภาพภูมิอากาศของเด็กปฐมวัยในอาเซียน ซึ่งสนับสนุนและให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัย การพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษา บทบาทของผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ”
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียปี 2021-2025 โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการการเคลื่อนย้ายด้านการศึกษาเทคนิคและอาชีวศึกษาของอาเซียน โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อปรับปรุงคุณภาพตลาดแรงงานในการจัดการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม โครงการการศึกษาสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิงในอาเซียน การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนภายใต้อาเซียน-สหภาพยุโรปเพื่อความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน และโครงการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้สะท้อนความมุ่งมั่นและปณิธานของสมาชิกอาเซียนที่จะผนึกพลังความร่วมมือด้านการศึกษา ในการพัฒนาการเรียนการสอนของอาเซียนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้พลเมืองทุกคนของอาเซียน