เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุถึงเรื่องการเวนคืนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในการบริหารของเอกชนในปัจจุบัน ให้กลับมาเป็นของรัฐบาล และจ้างเอกชนเดินรถว่า เรื่องนี้ต้องมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำเงินไปเวนคืนรถไฟฟ้าของเอกชนที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งทางกระทรวงการคลัง ต้องไปศึกษารายละเอียดว่าจะเป็นลักษณะใด เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้เป็นคนละกองทุนกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่จะมาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยนโยบายนี้ จะเดินหน้าต่อไปตามแผนที่วางไว้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) ซึ่งจะจัดเก็บรถที่จะเข้ามาในพื้นที่ที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์ และมีการจราจรติดขัด อาทิ รัชดาภิเษก พารากอน และสุขุมวิท เพื่อนำเงินสมทบเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น กระทรวงคมนาคมจะมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ในรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวว่ารูปแบบการจัดเก็บจะเป็นอย่างไร และจะจัดเก็บในพื้นที่ใดบ้าง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้หลายประเทศดำเนินการแล้ว อาทิ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อพื้นที่ใดมีระบบรถไฟฟ้าเดินทางไปมาสะดวกแล้ว ถ้ารถจะเข้าไปช่วงนั้นก็ต้องเก็บค่าธรรมเนียม ขณะที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันรถไฟฟ้าหลายสายเดินรถผ่านกลางเมืองก็ครบแล้ว ดังนั้นต้องเริ่มศึกษามาตรการนี้ ว่าจะเริ่มทำตรงไหนก่อน เก็บค่าธรรมเนียมเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมฯ มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการ นายสุริยะ กล่าวว่า ประเด็นนี้ที่ผ่านมาใครพูดผมไม่รู้ และที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ที่ชัดเจน ก็ต้องไปศึกษาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการขยายสนามบินภูมิภาค เพื่อรองรับการท่องเที่ยวนั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างเตรียมโอนย้ายสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหาร ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อทางอากาศสะดวก โดยระยะแรกจะมีการโอน 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนขอใบรับรองสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนระยะยาวกระทรวงฯ มีแผนจะโอนสิทธิบริหารทั้ง 29 สนามบินมายัง ทอท. คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี.