เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทุกเขตฯ ทำงานเชิงรุกร่วมทำงานกับทุกฝ่าย เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนไปยังสถานศึกษาทุกแห่ง ให้เตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน ครู บุคลากรเป็นลำดับแรก หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษา ให้อยู่ในดุลพินิจผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ และคำนึงถึงทรัพย์สินทางราชการด้วย และให้เขตพื้นที่การศึกษา ทำแผนที่ วอร์รูม แผนเชิญเหตุ และซักซ้อม เฝ้าระวังว่าโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่โดยด่วน เพื่อทำการช่วยเหลือได้ทันที หากหน่วยงานใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยมาขอใช้สถานศึกษาเป็นที่พักพิง ก็ให้ความร่วมมือสนับสนุน โดยสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่การศึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“ในส่วนกลางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รับข้อมูลการรายงานสถานการณ์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ สรุปรายงานแบบวันต่อวัน เพื่อช่วยเหลือเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตลอดจนการประเมินแนวโน้มสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภายหลังจากน้ำลดแล้ว สพฐ. จะได้ทำการสำรวจความเสียหายของแต่ละโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ภาคเหนือ จนถึงภาคใต้ เพื่อเร่งเยียวยาฟื้นฟูซ่อมแซม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมซ้ำซาก สพฐ. ได้เน้นให้วิศวกรออกแบบโครงสร้างอาคารในลักษณะใต้ถุนเปิดโล่ง เพื่อให้โรงเรียนได้รับผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุดหากเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้จะสำรวจจำนวนนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ด้วย โดยการช่วยเหลือเบื้องต้น ระยะสั้น จะมอบถุงยังชีพ นักเรียน ครูและบุคคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้นก่อน ระยะยาว ดูแลเรื่องอาคารสถานที่และคุรุภัณฑ์ที่ได้รับความเสียหาย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุด วันที่ 23 สิงหาคม 2567 พบว่า มีสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 121 โรงเรียน ใน 22 สพท. แบ่งเป็น 6 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และ 16 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด ตาก น่าน ปราจีนบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุรินทร์ อ่างทอง และภูเก็ต โดยมีนักเรียนที่ประสบภัย จำนวน 2,863 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 265 คน อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 71 แห่ง.