เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดีแต่อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้องและหาข้อยุติไม่ได้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงพิจารณาและดำเนินการฟ้องเองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยข้อมูลจนถึงเดือนก.ค. 2567 มีจำนวน 372 เรื่อง ในจำนวนนี้ ศาลพิพากษาลงโทษ จำนวน 142 คดี ศาลพิพากษายกคำร้อง จำนวน 84 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล จำนวน 73 คดี อยู่ระหว่างการร่างสำนวน จำนวน 64 คดี จำหน่ายคดี จำนวน 9 คดี (เนื่องจากจำเลยเสียชีวิต, กรรมการมีมติให้ยุติคดี, หลักฐานไม่เพียงพอ และจำเลยหลบหนี)

นายนิวัติไชย กล่าวว่า จากสถิติการดำเนินคดีในกรณีที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเองนั้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ สำนักงาน ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับการทุจริตและประพฤติมิชอบ การมุ่งมั่นในการนำคดีเข้าสู่ชั้นศาล เป็นภารกิจด้านการอำนวยความยุติธรรมอีกภารกิจหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ยกตัวอย่างคดีที่สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเองและขอให้มีการริบทรัพย์สินโดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน เช่น คดีที่อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กับพวก กรณีจัดซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำดับเพลิงอเนกประสงค์ งบประมาณ 5,500,000 บาท ศาลพิพากษาลงโทษความผิดตาม มาตรา 12 พ.ร.บ.ฮั้วประมูล, คดีที่ นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว กับพวก รังวัดสอบเขตที่ดินและออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา รุกล้ำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูป, คดีที่ พล.ต.ท. ธ. กับพวกทุจริตในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (คำขอท้ายฟ้องเรียกค่าเสียหาย 92 ล้านบาท) และคดีที่นาย ว. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี กับพวก สั่งจ่ายเช็คแล้วเบียดบังเงินไปเป็นของตนและเข้าไปมีส่วนได้เสียในการดำเนินการจ้างก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก (คำขอท้ายฟ้องเรียกค่าเสียหาย 13,156,837.58 บาท) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวบางคดียังไม่ถึงที่สุด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวนพร้อมเอกสาร พยานหลักฐานและความเห็นให้อัยการสูงสุดภายใน 30 วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป และตามมาตรา 77 ระบุว่า กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากัน ไม่เกินฝ่ายละ 5 คน เพื่อดำเนินการให้สำนวนการไต่สวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ในกรณีที่คณะกรรมการร่วมดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายได้เปิดช่องให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างหน่วยงาน โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมต่อไป.