เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุว่า “ฝีดาษวานร MPOX กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรค

ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 22 สิงหาคม 2567

บุคคลที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว จะทำให้เกิดโรครุนแรง ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมีดังนี้ บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษา กินยากดภูมิต้านทาน โรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำร่างกายอ่อนแอ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี บุคคลที่มีผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง eczema สตรีตั้งครรภ์

การติดต่อของสายพันธุ์ 1b สามารถติดต่อได้ทางฝ่ายละอองที่ออกมาทางจมูกและปาก และการสัมผัส กับผู้ป่วย การสัมผัสฝอยละออง การติดต่อจึงง่ายกว่าสายพันธุ์ 2b จึงทำให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้

ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ 1b มีความรุนแรงมากกว่า 2b ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการติดเชื้อในวัยเด็กและเด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก โดยเฉพาะที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เคยปลูกฝี ป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาแล้ว จึงมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ที่มาปกป้องหรือลดอาการของโรคได้บางส่วน

ทำไมผู้สูงอายุจึงไม่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับ Mpox

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษมาแล้ว วัคซีนดังกล่าวเมื่อปลูกฝีแล้วสามารถมีภูมิต้านทานต่อไข้ทรพิษได้ตลอดชีวิต และขณะเดียวกันสามารถข้ามไปปกป้องสายพันธุ์ Mpox ได้ด้วยถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของโรคลงได้

ประเทศไทย เลิกปลูกฝีอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2523 ที่จริงแล้วการปลูกฝีเริ่มปลูกน้อยลงตั้งแต่ปีพ.ศ 2517 และเลิกเป็นทางการในปี 2523 แสดงว่าผู้ที่เกิดหลังปี 2523 จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกฝี จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการติด Mpoxได้มากกว่าผู้ที่เคยปลูกฝีแล้ว”

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan”