เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหาพ.ต.อ.นพดล นิลมานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ร่ำรวยผิดปกติ

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2556- 2559 พ.ต.อ.นพดล นิลมานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้นำเงินสินบนรางวัลนำจับคดียาเสพติดที่เกิดจากการทำเรื่องขอเบิกโดยปลอมสายลับหรือผู้นำจับ รวม 44 คดี ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง จำนวน 61,652,888 บาท และมีทรัพย์สินซึ่งไม่สัมพันธ์กับรายได้ที่ได้รับ จำนวน 10,786,000 บาท เป็นเงินที่นำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง จำนวน 17 รายการ รวมเป็นเงิน 3,486,000 บาท เงินที่นำไปซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 6,000,000 บาท และที่ดิน ตำบลท่าสาย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 2 แปลง รวมเป็นเงิน 1,300,000 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้พ.ต.อ.นพดล นิลมานนท์ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 72,438,888 บาท

จึงให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัย พร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ทั้งนี้หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 125

นอกจากนี้ คณะกรรมการป.ป.ช. ยังมีมติชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหา พ.ต.อ.หญิง เพชราภรณ์ มงพลเมือง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ร่ำรวยผิดปกติ โดยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2558 – 2560 พ.ต.อ.หญิง เพชราภรณ์ มงพลเมือง ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มีรายการฝากเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากหลายรายการ โดยพ.ต.อ.หญิง เพชราภรณ์ ชี้แจงว่าได้นำทองคำที่ซื้อสะสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 – 2548 น้ำหนักทองรวม 120 บาทเศษ ทยอยขายในระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2555 แล้วนำเงินที่ได้ไปชำระค่าที่ดิน ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 แปลง รวมเป็นเงิน 2,200,000 บาท และชำระหนี้กับธนาคาร จำนวน 3 งวด รวมเป็นเงิน 713,200 บาท แต่จากการตรวจสอบรายได้ของพ.ต.อ.หญิง เพชราภรณ์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2538 – 2548 มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะซื้อทองคําสะสมได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้พ.ต.อ.หญิง เพชราภรณ์ มงพลเมือง ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 2,913,200 บาท ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัย พร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามพ.ร.ป.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 125